การท่องเที่ยวแนวใหม่ คนพิการก็ไปได้
เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก…เชื่อว่าถ้าทำได้ทุกคนก็อยากออกไปเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาลทั้งนั้น คนพิการก็เช่นเดียวกับคนปกติธรรมดา จะทำอย่างไรเมื่อสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย แต่หัวใจอยากติดปีกโบยบิน…
แต่มีแค่หัวใจที่อยากไปเที่ยวคงไม่ดีเท่าไหร่นัก เรามีข้อมูลดีๆ จาก“ชีวิตมีไว้ใช้” สร้างความหมายให้ชีวิตคนพิการ และผู้สูงอายุด้วยการท่องเที่ยว คู่มือท่องเที่ยวสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จัดทำโดย สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ อีกหนึ่งหน่วยงานคิดดีทำดี โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการพาคนที่คุณรักออกไปเที่ยว
สำหรับการเดินทางของคนพิการ ประการแรก ต้องมีใจที่อยากจะท่องเที่ยว ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน คนรู้ใจ รวมถึงต้องมีเวลาและเงินเป็นค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับระยะเวลา และระยะทางที่จะท่องเที่ยว
ประการที่สอง ไม่ควรไปเที่ยวตามลำพัง แต่ควรมีคนในครอบครัว เพื่อน คนรู้ใจ หรือผู้ดูแลไปด้วย นอกจากจะเพื่อดูแลความสะดวกของคนพิการแล้ว ยังช่วยสร้างความสามัคคี ความเข้าใจระหว่างกันได้
ประการที่สาม วางแผนการเดินทางล่วงหน้า โดยต้องทราบว่าจุดมุ่งหมายที่จะไปนั้น ไปเที่ยว ไปพักในที่ใด เพราะต้องคำนึงถึงสถานที่พัก ที่สะดวกสำหรับคนพิการ รวมถึงการเตรียมแผนที่เส้นทาง จุดแวะพักต่างๆ
สุดท้าย ประการที่สี่ พาหนะในการเดินทางท่องเที่ยว ควรเป็นพาหนะส่วนตัว หรือรถเช่า ไม่แนะนำให้เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน เครื่องบิน เรือ รถไฟนั้น คนพิการจะเข้าถึงค่อนข้างยากลำบาก
และควรเดินทางในวันธรรมดา หากท่องเที่ยวในวันหยุด หรือช่วงเทศกาล ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการเดินทาง เช่น การจองห้องพัก
ที่สำคัญห้ามลืมเด็ดขาด!!! ควรมีการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ ยา เฉพาะตัวสำหรับคนพิการ ก่อนการเดินทาง ซึ่งเราสามารถแบ่งการเตรียมอุปกรณ์ออกได้เป็น 4 ประเภท คนพิการด้านการเคลื่อนไหว เช่น ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ ควรจัดเตรียมเครื่องช่วยพยุงขา (Brace) ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน และแขนขาเทียม รวมถึงเตรียมอุปกรณ์เสริมไปด้วย เช่น ที่สูบลมยาง คนพิการซ้ำซ้อน เช่น คนพิการซีพี ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ กระดานสื่อสาร อุปกรณ์การรับประทานอาหารแบบพิเศษ ที่ช่วยให้คนพิการสามารถรับประทานอาหารเองได้ และเครื่องช่วยอื่นๆ สำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหว
เช่นเดียวกับ คนพิการทางการมองเห็น ควรจัดเตรียมอุปกรณ์อันได้แก่ อักษรเบรลล์ อุปกรณ์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น (Low-vision devices) ไม้เท้าขาว และนาฬิกาพูดได้ และสุดท้าย คนพิการทางการได้ยิน ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ช่วยในการฟังและการสื่อสารทางไกล นอกจากนี้ ควรจัดเตรียม เบาะรองนั่ง ยาประจำตัว
เตรียมตัวเรียบร้อย ก็ออกเดินทางกันเลย !!! เส้นทางที่เอามาแนะนำกำลังอยู่ในกระแส และเหมาะกับสภาพอากาศหนาวในช่วงสิ้นปีเป็นอย่างยิ่ง นั้นคือ จังหวัดเชียงใหม่
ที่แรกที่ห้ามพลาดนั่นคือ พระธาตุดอยสุเทพ มีถิ่นที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 124 บนถนนดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางตามถนนห้วยแก้ว ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระยะทางจากเชิงดอยถึงวัดประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงใหม่นับแต่โบราณกาล นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดนี้ จะต้องขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุกันทุกคน ถ้าหากใครไม่ได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว ถือเสมือนว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่
ใครที่กลัวว่า ขึ้นดอยขึ้นภูเขาจะต้องลำบากแน่ๆ ไม่ต้องกังวล เพราะที่นี่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการไว้พร้อม ทางลาด มีหลายจุด ส่วนใหญ่มีความชัน ควรมีผู้ช่วยเหลือผู้ที่ใช้ Wheel Chair ในการขึ้นทางลาด ป้ายสัญลักษณ์ มีหลายจุดได้แก่ ทางไปลิฟต์ ด้านหน้าลิฟต์ และบริเวณห้องส้วม มีห้องส้วมเฉพาะสำหรับคนพิการแบบไม่แบ่งแยกเพศจำนวน 2 ชุด ลิฟต์ ทางพระธาตุดอยสุเทพจัดลิฟต์สำหรับคนพิการไว้ 1 ตัว ราวจับ มีราวจับบริเวณบันไดและทางลาดเกือบทุกจุด
ถึงแม้ พระธาตุดอยสุเทพ จะจัดห้องส้วม ทางลาด และลิฟต์เฉพาะสำหรับคนพิการไว้อย่างดี แต่การที่คนใช้ Wheel Chair จะขึ้นไปนมัสการถึงองค์พระธาตุจะมีบันได โดยทางวัดได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยยกคนที่ใช้ Wheel Chair ขึ้น
ถ้ายังไม่เหนื่อยก็ไปต่อกันที่ เชียงใหม่ ซู อควาเรียม สามารถพุ่งตรงไปได้ที่ เลขที่ 100 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลท์แห่งหนึ่งของเมืองไทยที่ได้มาตรฐานระดับสากล นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเชียงใหม่ ถือเป็นศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ที่มีอุโมงค์ใต้น้ำที่กว้างและยาวที่สุด ในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ อุโมงค์เป็นอะคริลิคใส ภายในแบ่งออกเป็น 7 โซนด้วยกัน จัดแสดงถึงระบบนิเวศน้ำจืดและสัตว์ทะเลที่โดดเด่น
ในด้านการอำนวยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ เชียงใหม่ ซู อควาเรียม ก็ไม่น้อยหน้าใครเพราะมีทางลาดหลายจุด ทั้งทางลาดเข้าอาคารและภายในอาคาร โดยทางลาดภายในอาคารมีความชัน ควรมีผู้ช่วยเหลือคนที่ใช้ Wheel Chair ในการขึ้นทางลาด ป้ายสัญลักษณ์ จัดไว้หลายจุด โดยเฉพาะห้องส้วมและทางเข้า-ออก เฉพาะห้องส้วม มี 1 ห้อง ด้านนอกอาคารแบบไม่แบ่งแยกเพศ หมายเหตุ มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเฉพาะสำหรับคนพิการ
แต่การเข้าถึงอควาเรียม จากทางเข้าสวนสัตว์เชียงใหม่ค่อนข้างไกล จึงควรใช้รถรางในการเดินทาง คนที่ใช้ Wheel Chair จึงควรมีผู้ช่วยเหลือในการยกขึ้นลงจากรถราง หรือจะโทรไปสอบถามข้อสงสัยกันก่อนได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 053-221-179, 053-222-283 หรือดูข้อมูลออนไลน์ประกอบการตัดสินใจได้ที่www.chianmaizoo.com
สิ่งสำคัญที่สุดของการท่องเที่ยวแนวใหม่ของผู้พิการ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ หรือความสะดวกสบาย แต่อยู่ที่เพื่อนร่วมเดินทาง ซึ่งอาจเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้ใจ และน้ำใจจากผู้คนระหว่างการเดินทางมากกว่า ว่ามีความรักความเข้าใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับผู้พิการหรือไม่ ซึ่งตรงนี้เชื่อว่า คนไทยยังมีให้กันอย่างเต็มเปี่ยม ดังคำที่กล่าวกันว่า อยู่ที่ไหนไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา…
เรื่องโดย: อัญณิกา กฤษสมัย Team content www.thaihealth.or.th