การดื่มเหล้าเบียร์เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมไทยหรือ?
พบการดื่มต่อคนเพิ่มเป็น 58 ลิตร หรือ 3 เท่าตัวในเวลา 14 ปี
นับเป็นหนึ่งในคำถามที่คนไทยคงต้องถามกันและกันให้มากขึ้น รวมทั้งช่วยกันค้นหาคำตอบที่เป็นจริง
ที่ต้องตั้งคำถาม เพราะไม่เช่นนั้น คนไทยจำนวนมากจะมีคำตอบสำเร็จรูปถูกปลูกฝังให้ยอมรับกันไปแล้วว่า สังคมไทยอยู่คู่กับน้ำเมามานาน และขาดมันไม่ได้ มันเป็นเรื่อง “ปกติธรรมดา” ของการเข้าสังคม
คำถามนี้ได้เริ่มถูกถามให้คิดมากขึ้นเรื่อยๆ และบางสังคมได้ให้คำตอบแล้วด้วย
อย่างเช่นปีใหม่ที่ผ่านมา เกิด “ปาร์ตี้โนแอล” หรืองานฉลองปีใหม่แบบคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้อง ใช้เครื่องดื่มมึนเมามาประกอบ ขึ้นในหลายกลุ่มสังคม หรือเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านมา เทศบาลนครขนาดใหญ่ อย่างที่เชียงใหม่และขอนแก่น ประกาศนโยบายการจัดงานเทศกาลแบบ “สงกรานต์สนุกได้ ไร้แอลกอฮอล์” ที่ขอนแก่นจัดงานถนนข้าวเหนียวปลอดแอลกอฮอล์ต่อเนื่องมาเป็นปีที่สองแล้ว เพราะเห็นผลดีจากปีก่อน และนายกเทศมนตรีพีระพล พัฒนพีระเดช ประกาศนโยบายจะจัดงานสงกรานต์ไร้แอลกอฮอล์ต่อเนื่องตลอดไปร่วมกับภาคประชาสังคมในจังหวัดที่พยายามขยายผลสู่การจัดงานระดับชุมชนย่อยลงไปอื่นๆ
ขณะที่นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ปกรณ์ บูรณปกรณ์ ระบุว่า สงกรานต์เชียงใหม่ปีนี้มีการทะเลาะวิวาทลดลงอย่างชัดเจนและจะขยายแนวคิด “สนุกได้ไร้แอลกอฮอล์” ในเทศกาลอื่นๆ อีก
นั่นเป็นเพียงบางตัวอย่างของชุมชนและสังคมย่อย ที่ออกมาจัดการที่ทางของน้ำเมาในสังคมของตนจนลดปัญหาที่น้ำเมาลงได้ แล้วสังคมไทยโดยรวม เราตั้งคำถาม และตอบคำถามเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับวัฒนธรรมไทยและสังคมไทยอย่างไร?
ถ้าค้นหาข้อมูลจากประวัติศาสตร์เพื่อตอบคำถามนี้กันจริงจังหน่อย ทักษพล ธรรมรังสีรวบรวมไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาว่ามีบันทึกอายุ400 ปี ของชาวฝรั่งเศสที่มารับราชการในสยาม บันทึกว่า “พลเมืองสยามอยู่กันอย่างเรียบง่าย คนทั่วไปดื่มแต่น้ำเปล่า กินข้าวหุง กับปลาแห้งและผลไม้” ตรงกับอีกหลายบันทึกในสมัยนั้นโดยระบุว่าเหตุผลหลักของการไม่ดื่มสุราของคนไทยคือความเชื่อในข้อห้ามของศาสนาพุทธ
ชาวจีนอพยพในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้นำเอาเทคนิคการกลั่น “เหล้าโรง” เข้ามาเผยแพร่แล้วการค้าเหล้าก็เริ่มหากินกับคนไทย และเริ่มแทรกซึมไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ของประเพณีต่างๆอยู่บ้าง
แต่ สถิติชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง คนไทยเพิ่มปริมาณการดื่มเหล้าของตนขึ้นอย่างมโหฬาร โดยการเพิ่มปริมาณการดื่มเหล้าของตนขึ้นอย่างมโหฬาร โดยการดื่มต่อหัวเพิ่มจาก 20.2 ลิตรต่อคนต่อปีในปี 2532 เป็น 58 ลิตรต่อคนต่อปีในปี 2546 หรือร่วม 3 เท่าตัวในเวลา 14 ปี โดยถ้าตัดดูเฉพาะตลาดเบียร์ในห้วงเวลา 14 ปีนี้ พบว่าพุ่งสูงขึ้นถึง 8 เท่าตัว!
หากลองนึกย้อนหลังไปสิบกว่าปีที่ผ่านมาคงพอนึกกันออกว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กระบวนการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกันขยายการดื่มของคนไทยขนาดนี้
และถ้าจะอ้างเหตุว่ามาจากรากวัฒนธรรมการดื่มของสังคมไทย ก็ต้องบอกว่าการตลาดของธุรกิจขายความเมานี้ ไปต่อยอดค่านิยม ความเชื่อ หรือวัฒนธรรมการดื่มที่มีอยู่แล้วให้หนักหนาขึ้นมาก
จนทุกวันนี้ เวลาที่สังคมไทยจะกำหนดกติกาสังคมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ชัดเจนขึ้นคำถ้าเพื่อคัดค้านการเปลี่ยนแปลงยังวนเวียนอยู่ที่สองข้ออ้าง
ข้ออ้างแรก คืออ้างว่ามันเป็น “สิทธิส่วนบุคคล” ซึ่งก็ต้องมาดูข้อมูลกันว่า พฤติกรรมการดื่มของบุคคลเหล่านี้ ก่อให้เกิดปัญหาแก่คนอื่นๆ แก่สวัสดีภาพของคนอื่น แก่งบประมาณแผ่นดินแก่สังคมโดยรวมมากน้อยเพียงใด จนสังคมต้องเข้ามาดูแลกติกาการดื่มของปัจเจกบุคคลเพิ่มเติมหรือไม่
ข้ออ้างที่สอง คืออ้างว่ามันเป็น “ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย” เราอยู่คู่กับมันมานาน และใครๆ ก็ดื่มนมกันในการ “เข้าสังคม”
ข้ออ้างหลังนี้ไม่ต่างจากสมัยเริ่มมีการดูแลกติกาเรื่องการสูบบุหรี่เมื่อสักยี่สิบปีก่อน ซึ่งคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันอาจนึกภาพไม่ออก ว่าคนไทยสูบบุหรี่กันมากมาย และเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมกันขนาดไหน
ภาพของการประชุมกรรมการบริษัทหรือหน่วยราชการ ที่ประธานและผู้ร่วมประชุมคีบบุหรี่ไปด้วย พ่นควันไปด้วยเป็นเรื่องเห็นกันได้ปกติ โดยคนที่ไม่สูบบุหรี่ในวงประชุม แม้จะเหม็นควันบุหรี่ขนาดไหนก็ต้องอดทน เพราะมันถูกถือว่า เป็น “สิทธิของผู้สูบ” และมันเป็นเรื่อง “ปกติธรรมดา” ในวงสังคมไทย ใครจะบ่นหรือโวยวายมันเป็นเรื่องแปลก
ถ้ายี่สิบปีก่อน คนไทยบางคน บางกลุ่มไม่เริ่มตั้งคำถามถึง “ความปกติธรรมดา” นี้ รวมทั้งถามถึงมุมของ “สิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่” วันนี้เราก็คงยังอยู่ในสภาพเช่นนั้น เหมือนที่ขณะนี้หลายๆ ประเทศก็ยังเป็นอยู่
ไม่แปลกอะไรที่ในวันนี้ คนไทยจำนวนมากที่ตกอยู่ในความชาชินภายใต้การมอมเมามาหลายทศวรรษ อาจจะนึกถึงสังคมไทยที่ปลอดภัยจากปัญหาแอลกอฮอล์มากกว่านี้ไม่ออกยังชาชินกับข่าวหน้าหนึ่งของอุบัติเหตุและอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เฉลี่ยวันละกว่าสามชิ้นข่าว) ว่าเป็นเรื่อง “ปกติธรรมดา”
ปลาที่กำเนิดในแหล่งน้ำที่เน่าเสียคงนึกถึงธารน้ำใสสะอาดไม่ออก นกกลางกรุงคงไม่อาจจินตนาการถึงอากาศใสปราศจากควันน้ำมันที่ตนไม่เคยสัมผัสได้
แต่..มนุษย์เรา น่าจะแตกต่างไป
อย่างน้อยเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา อย่างน้อย ผู้คนในเทศบาลนครเชียงใหม่และขอนแก่นได้สาธิตให้เห็นการฉลองสงกรานต์อย่างสนุกสนานได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำเมาเป็นเครื่องมือหลัก และยังมีคนในอีกหลายร้อยชุมชนได้สาธิตการสร้างชุมชนที่ดูแลจัดการปัญหาจากน้ำเมาให้อยู่ในระดับพึงประสงค์ได้
เราคงยังต้องช่วยกันตั้งคำถามข้างต้นกันต่อไปและให้สังคมไทยโดยรวมช่วยกันตอบช่วยกันพิจารณาถึงสังคมที่ควรจะเป็นในเรื่องนี้
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:23-07-51