กาย-จิต มีปัจจัยเสี่ยงส่องสุขภาพคนรุ่นใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
เด็กและเยาวชนคือความหวังและอนาคต ทุกสังคมจึงต้องฝากไว้ให้คนรุ่นใหม่มารับช่วงต่อ แต่กว่าจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆ จะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมากก็ตามหากเทียบกับในอดีต
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเผยแพร่รายงาน "สุขภาพคนไทย 2563 : สองทศวรรษ ปฏิรูปการศึกษาไทย ความล้มเหลวและความสำเร็จ" ซึ่งร่วมจัดทำโดย 3 หน่วยงานคือ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเนื้อหาตอนหนึ่งได้รวบรวมตัวชี้วัดด้านสุขภาพและความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนไทย (เน้นอายุ 10-24 ปี) ไว้ดังนี้
1. ชีวิตวัยรุ่นชายเผชิญความเสี่ยงและพบกับความสูญเสียกว่าวัยรุ่นหญิง หากเปรียบเทียบอัตราการตายของทั้ง 2 เพศ ระหว่างปี 2557-2561 แบ่งตามช่วงวัย (หน่วยนับคือคนต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คน) พบว่า "อายุ 10-14 ปี" ชายต่อหญิงอยู่ที่ 0.5:0.3, 0.5:0.3, 0.6:0.3, 0.6:0.3 และ 0.5:0.3 "อายุ 15-19 ปี" ชายต่อหญิงอยู่ที่ 1.5:0.5, 1.5:0.5, 1.7:0.5, 1.7:0.5 และ 1.6:0.5 และ "อายุ 20-24 ปี" ชายต่อหญิงอยู่ที่ 1.7:0.5, 1.8:0.5, 1.8:0.5, 1.8:0.5 และ 1.7:0.5 ปัจจัยสำคัญมาจาก "อุบัติเหตุ บนท้องถนน" ที่เพศชาย (อายุ 15-24 ปี) มีอัตราการตายสูงกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า
2. ยุคสมัยเปลี่ยนไป..ใจคนยิ่งเปลี่ยวเหงา หากเปรียบเทียบข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1-6 พบว่า ในปี 2551 มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 3.5 ที่ตอบว่าไม่มีเพื่อนสนิท แต่การสำรวจในอีก 7 ปีต่อมาคือ ในปี 2558 พบกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.6 ตอบว่าไม่มีเพื่อนสนิท หรือเพิ่มขึ้น เกือบเท่าตัว เช่นเดียวกัน ในปี 2551 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78 ระบุว่า รู้สึกถึงความช่วยเหลือ/มีน้ำใจจากเพื่อนๆ แต่การสำรวจเดียวกันในปี 2558 ความรู้สึกดังกล่าว ลดลงเหลือร้อยละ 61 ชี้ให้เห็นว่า สังคมสมัยใหม่ผู้คนมีแนวโน้มต่างคน ต่างอยู่มากขึ้น
อนึ่ง มีตัวชี้วัดที่น่าสนใจ 2 เรื่อง ในส่วนนี้คือ "ความเชื่อมั่นว่าหากเดือดร้อนจะมีหน่วยงานในชุมชนมาช่วยเหลือ" คำถามนี้เปรียบเทียบ ระหว่างปี 2554 กับ 2561 สอบถามความคิดเห็นของเยาวชนอายุ 15-24 ปี พบว่า ในภาพรวมความเชื่อมั่นเรื่องนี้ลดลง แต่เมื่อดูเป็นรายพื้นที่ พบว่า กรุงเทพฯ กับภาคเหนือเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ลดลง
กับ "การเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน/หมู่บ้านเป็นประจำ" คำถามนี้เปรียบเทียบระหว่างปี 2551 ปี 2554 และ ปี 2561 พบว่า ในภาพรวมลดลง แต่ในรายพื้นที่ มีเพียงกรุงเทพฯ เท่านั้นที่เพิ่มขึ้น ส่วนภาคอื่นๆ ล้วนลดลง ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม "สังคมไทยเริ่ม ตระหนักถึงโรคซึมเศร้ามากขึ้น" โดยมีจำนวนผู้เข้าถึงการตรวจรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2556 เยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี ที่เข้าถึง การตรวจรักษาโรคซึมเศร้าอยู่ที่ 18,628 คน แต่ในปี 2561 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 131,260 คน
3. สภาพสังคมและค่านิยมบางอย่างมีผลต่อสุขภาพกาย โดยพิจารณาจาก 2 ข้อค้นพบคือ "อาหารฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) กับคนกรุง" อาหารฟาสต์ฟู้ดจากโลกตะวันตกมีรสชาติอร่อยแต่เน้นไขมันและพลังงานสูง การสำรวจในปี 2560 พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 10-24 ปี ในกรุงเทพฯ บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างน้อยละสัปดาห์ละครั้ง มากถึงร้อยละ 69.2 มากที่สุดในประเทศไทย ส่วนภาคเหนือนั้นน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 38.7 เท่านั้น
กับ "ผู้ชายออกกำลังกายมากกว่าผู้หญิง" การสำรวจในปี 2561 สอบถามความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน อายุ 13-24 ปี พบว่า เพศชายออกกำลังกายเป็นประจำถึงร้อยละ 26.1 มากกว่าเพศหญิงที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เพียงร้อยละ 10.7 หรือมากกว่าเท่าตัว ในทางกลับกัน มีเพศหญิงถึง ร้อยละ 22 ระบุว่า ไม่ออกกำลังกายเลย มากกว่าเพศชายที่มีเพียงร้อยละ 11.8 หรือมากกว่าเกือบเท่าตัว ผลสำรวจนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กิจกรรมทางกายของผู้หญิงโดยมากมาจากวิชาในโรงเรียนเท่านั้น ส่วนผู้ชายเหนือจากวิชาในโรงเรียนยังเล่นกีฬาด้วย เช่น ฟุตบอล
4. เซ็กซ์แลกเงินลดลง..แต่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยขึ้น (โดยเฉพาะในเพศหญิง) รายงานผลการเฝ้าระวัง พฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย ปี 2557-2562 โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ด้านหนึ่งการมีเพศสัมพันธ์เพื่อแลกกับเงินหรือสิ่งของลดลง โดยนักเรียนหญิงชั้น ม.5 ในปี 2557 มีพฤติกรรมดังกล่าวร้อยละ 0.6 แต่หลังจากนั้นก็ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 0.3 มาโดยตลอด เช่นเดียวกับนักศึกษาหญิงระดับ ปวช.2 ในปี 2557 มีพฤติกรรมดังกล่าวร้อยละ 1.6 และเคยพุ่งสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 3.3 ในปี 2559 ก็ลดลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 0.9 ในปี 2561
แต่อีกด้านหนึ่ง วัยรุ่นหญิงมีแนวโน้มมีจำนวนคู่นอนที่ผ่านมาในชีวิตเพิ่มขึ้น การสำรวจข้อมูลจากนักเรียนชั้น ม.1-ม.6 เปรียบเทียบกันระหว่างปี 2551 กับปี 2558 พบว่า ในปี 2551 วัยรุ่นหญิงที่เคยเปลี่ยนคู่นอนมาแล้ว 6 คนหรือมากกว่า มีอยู่ที่ร้อยละ 2.3 แต่ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 มากกว่าวัยรุ่นชายในช่วงอายุเดียวกัน ที่ ในปี 2551 มีวัยรุ่นชายที่เคยเปลี่ยนคู่นอนมาแล้ว 6 คน หรือมากกว่า ร้อยละ 13.1 และในปี 2558 เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 16.1 หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3
ข้อมูลชุดหนึ่งในหมวดนี้ที่น่าสนใจเพราะดูจะสวนทางกันคือ "ในขณะที่แม่วัยใสลดลง..วัยรุ่นไทย กลับติดเชื้อซิฟิลิสสูงขึ้น" โดย ในปี 2555 วัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์ 53.4 คนต่อประชากรเพศและวัยเดียวกัน 1,000 คน ส่วนปี 2562 สถิติดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 27.6 คนต่อประชากรเพศและวัยเดียวกัน 1,000 คน หรือลดลงเกือบเท่าตัว แต่สถิติการติดเชื้อซิฟิลิสของเยาวชนอายุ 15-19 ปี ในปี 2562 อยู่ที่ 3,735 คน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 ที่มีอยู่เพียง 802 คน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า
5. เหล้าและบุหรี่ยังไม่จางหายไปจากวิถีวัยรุ่นไทย ในปี 2547 ค่าเฉลี่ยของคนไทยทุกช่วงวัยที่ สูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 23 และดื่มสุราอยู่ที่ร้อยละ 32.7 ต่อมาในปี 2560 ค่าเฉลี่ยของคนไทยทุกช่วงวัยที่สูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 19.1 และดื่มสุราอยู่ที่ร้อยละ 28.4 แต่สำหรับวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ในปี 2547 การสูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 15.1 และดื่มสุราอยู่ที่ร้อยละ 23.5 ต่อมาในปี 2560 การสูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 15.4 และดื่มสุราอยู่ที่ร้อยละ 23.9 จะเห็นได้ชัดว่าแม้ค่าเฉลี่ยรวมจะลดลง แต่ในส่วนของวัยรุ่นดูจะทรงตัวมากกว่า
6. สื่อออนไลน์กลายเป็นของคู่กับวัยรุ่น (โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน) ในปี 2556 วัยรุ่นไทยอายุ 15-24 ปี ใช้อินเตอร์เนตผ่านมือถือสมาร์ทโฟน ร้อยละ 92.8 ใช้อินเตอร์เนต ผ่านคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 67.1 ต่อมาในปี 2561 สัดส่วนการใช้อินเตอร์เนตผ่านมือถือสมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 96.9 ในขณะที่การใช้อินเตอร์เนตผ่านคอมพิวเตอร์ลดลง เหลือร้อยละ 54.3
แต่การใช้สื่อออนไลน์อย่างแพร่หลายก็นำมาซึ่งปัญหา เช่น "สื่อลามกอนาจาร" ในปี 2562 มีการสอบถามความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 จำนวน 15,318 คน พบว่า ร้อยละ 73.8 เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ นอกจากนี้ ร้อยละ 64.7 เคยเกี่ยวข้องกับ "การรังแกกันทางออนไลน์ (Cyber Bullying)" แบ่งเป็นฝ่ายกระทำ ร้อยละ 33.6 และฝ่ายถูกกระทำ ร้อยละ 31.1 เป็นต้น
ยังมีสถิติและเนื้อหาอีกหลายส่วนที่น่าสนใจ โดยผู้สนใจสามารถอ่านและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ สสส. https://www.thaihealth.or.th เข้าหมวด "สื่อสร้างสุข" ตามด้วยหมวด "แนะนำหนังสือ"