กาดผญ๋า-ตลาดแห่งภูมิปัญญา
ชีวิตเล็กๆ ที่น่ารักน่าชังกว่า 600 ชีวิต จากโรงเรียนใกล้ไกล เช่น โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, โรงเรียนเทศบาลศรีปิงเมือง จากจังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนอื่นๆ อีกมากมาย ที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ในกิจกรรมที่ชื่อว่า กาดผญ๋า ตอน “ภาพเก่าเล่าอดีต” ระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา
“กาด” นั้นมากจากภาษาถิ่นของชาวล้านนา ในภาคเหนือของไทย ที่แปลว่า ตลาด และคำว่า “ผญ๋า” มาจากคำว่า “ปัญญา” นั่นเอง โดยภายในงานนั้นมีพ่อครู แม่ครู และผู้มีความรู้ต่างๆ จากทุกสารทิศในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ไม่ต้องการให้ความรู้ที่ตนเองมีนั้นได้เลือนหายไปจากแผ่นดินล้านนา จึงได้เข้ามาให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมาก
ความรู้ที่เด็กๆ ได้รับกลับไปจากการเข้ามาเรียนรู้ก็คือ ความรู้ที่เปี่ยมล้นไปด้วยการสร้างความสัมพันธ์กัน การแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้รู้และผู้เรียน และผู้ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วยกันเอง ยกตัวอย่างการเรียนรู้ที่มากมายได้ดังต่อไปนี้ การเรียนทำของเล่น การดุลโลหะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ การปั้นดินเผา การทอผ้า การฟ้อนรำ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ควรค่ายิ่งแก่การสืบทอดไว้ยิ่งนัก
ภายในงานกาดผญ๋านั้น เต็มไปด้วยบรรยากาศของการเรียนการสอน ที่บรรจุด้วยความรัก ความเอื้ออาทร ต่อความต้องการจะมอบให้ โดยปราศจากการหวังสิ่งใดเป็นการตอบแทน ตลาดปัญญาแห่งนี้ ได้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ต้นเดือน โดยเริ่มขึ้นมาจากการที่พ่อครู แม่ครู ต้องการให้มีการสืบสานเจตนารมณ์ ทางด้านการสืบสานงานภูมิปัญญาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะเติบโตมากับโลกดิจิตอล จึงได้มีการเริ่มปรึกษากับทางโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เพื่อให้มีการสานต่อองค์ความรู้ที่มีมาอย่างยาวนานให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องการให้บุคคลภายนอก ได้รับรู้ถึงความดีงามของวัฒนธรรมล้านนา และได้ระลึกถึงรากเหง้าของตนเอง เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิตของตนเพื่อไม่ให้คงความเป็นตัวตนอยู่ได้ และยังสามารถกำหนดทิศทางในการดำเนินชีวิตของตนเองได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาร่วมกันถ่ายภาพบรรยากาศของการเรียนรู้ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนา เพื่อนำไปบอกเล่าต่อสาธารณะด้วย สีสันที่เต็มไปด้วยมุมมองทางวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ สีสันและเสน่ห์ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของผู้ที่อาศัยอยู่กับวิถีแห่งแผ่นดิน ใกล้ชิดกับแผ่นดิน ผ่านมุมมองของนักถ่ายภาพทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ห่างไกล ได้ซาบซึ้งกับศิลปะการดำเนินชีวิตที่เปี่ยมล้นไปด้วยภูมิและปัญญา จากผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยการสืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษของตน
ที่มา: เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา โดย เด็กนอกเมือง
update : 07-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน