กองทุน (กองบุญ) ความช่วยเหลือใกล้บ้าน

 

ครั้งหนึ่งนั้นตำบลดงมูลเหล็ก อำเภอเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ ประสบกับปัญหาเรื่องความยากจน และขาดแคลนในเรื่องสวัสดิการต่างๆ สำหรับชาวบ้านในชนบทนั้น การอยู่ด้วยตัวเองนั้นลำบาก การจะดูแลตัวเองอย่างเพียงพอ ทั้งการเจ็บการป่วย การเกิด และการตาย ทำโดยลำพังนั้นยาก ใครมีกำลังดูแลตัวเองได้ก็โชดดีไป ส่วนที่ไร้หนทางก็ยังมีอยู่มาก ยิ่งในภาคชนบทที่เป็นชุมชนเกษตรกรรมด้วยแล้ว ไม่รวมถึงปัญหาอบายมุขต่างๆ

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของปัญหาภัยพิบัติ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจทำงาน หากแต่ต้องประสบภัยน้ำท่วม บางทีฝนแล้ง หรือประสบอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วยในบางเวลา นี่มักจะเป็นคำถามพื้นฐานว่า สังคมไทยจะร่วมกันดูแลพวกเขาอย่างไร ปลัด อบต. สุชาติ น้อยคนดี เล่าว่า ที่มาของกองทุนสวัสดิการของดงมูลเหล็กเกิดขึ้นเมื่อครั้งไปดูงานด้านสุขภาวะชุมชนที่ อบต.ปากพูน ตอนนั้นที่ อบต. ติดใจเรื่องธนาคารความดี ธนาคารเวลามาก ยิ่งได้ฟังวิทยากรบรรยายก็ยิ่งรู้สึกว่า คนที่ปากพูนเขาโชคดีที่ผู้บริหารท้องถิ่นใส่ใจสวัสดิการของชาวบ้าน พอเราเห็นว่า กองทุนนี้มันดีต่อชาวบ้านอย่างไร ก็อยากจะลองกลับมาทำดู เผื่อชาวบ้านดงมูลเหล็กจะได้ประโยชน์ ไม่มากก็น้อย

“ช่วงเดียวกับรัฐบาลสมัยนั้น (รัฐบาล อภิสิทธิ์) มีมติสนับสนุนเรื่องการจัดตั้งสวัสดิการของชุมชน พอกลับจากดูงาน เราเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา นายกฯ จึงเรียกฝ่ายต่างๆ เข้าประชุมทันที แม้จะฟังดูเหมือนง่าย แต่กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดกันพักหนึ่ง ถึงพอเข้าใจ และเห็นว่า การยกชุดแบบสำเร็จรูปมาใช้เลยนั้น ทำไม่ได้ เพราะบริบทของชุมชนแตกต่างกัน ที่สำคัญ คือจะทำอะไร จะตัดสินใจอะไร ต้องนำเรื่องการจัดตั้งกองทุนฯ เข้าในที่ประชุมบูรณาการ และการประชุมธรรมนูญสุขภาพประจำเดือนทุกครั้ง”

ปลัด อบต. เล่าต่อว่า ทุกครั้งที่จะตัดสินใจทำอะไรต้องชี้แจงผลประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกจะได้รับ โดยเราจะชี้แจงกับผู้นำชุมชนก่อน เพื่อให้ผู้นำไปบอกต่อกับคนในชุมชน เมื่อชุมชนรับทราบข้อมูลตรงกัน การทำงานจึงไม่มีปัญหา เราโชคดีด้วยที่คนในชุมชนมี ความสามัคคี มีจิตสาธารณะ การรวมกลุ่มจึงมีความเข้มแข็ง

“การเสียสละคนละนิดเพื่อชีวิตคนในชุมชน โดยที่สุดแล้ว จุดประสงค์ของกองทุนนี้ ก็เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนรู้จักพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เพื่อที่ทุกคนจะได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียมกันตั้งแต่การเกิด เจ็บ และตาย ที่สำคัญกองทุนนี้เป็นการรวมตัวด้วยความเต็มใจของชาวบ้าน โดยมีการวางหลักเกณฑ์ว่า สมาชิกจะเสียสละสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท / 1 คน ส่วนรัฐจะมีบทบาทก็ตรงที่ เข้ามาสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม แบ่งเป็นจากอบต. 1 ส่วน รัฐบาล1 ส่วน”

วันละ 1 บาท ปี ละ 300 กว่าบาท ขณะที่บางแห่ง เขาเก็บเพียงปีละ 100 บาท ซึ่งปลัดฯ อธิบายว่า การเก็บเพียงปีละ 100 บาท จะไม่เพียงพอต่อการดูแลชาวบ้าน ส่วนคนที่ไม่มีกำลังจริงๆ กองทุนจะเข้าไปดูแลเอง โดยไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิกแต่อย่างใด

“ชาวบ้านที่นี่ทำความเข้าใจกันก่อนแล้วว่า จุดประสงค์หลักของกองทุนที่นี่ ก่อตั้งมาเพื่อช่วยคนในชุมชน อีกอย่างเรามีคณะ กรรมการที่เลือกมาจากสมาชิกเอง เวลาจะช่วยเหลือใคร เราประชุมกับสมาชิกก่อนอยู่แล้ว อย่างตอนนี้ เรามีช่วยเรื่องบ้านให้คนพิการบ้าง ช่วยเหลือเด็กที่ท้องก่อนวัยบ้าง เราช่วยโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้ไปสร้างความรู้สึกน่าสงสารอะไร” ปลัดฯ สรุป

 

 

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ