“กองทุนสื่อสร้างสรรค์” เครื่องมือช่วยพัฒนาสื่อ

สร้างโอกาสผลิตรายการคุณภาพเพื่อเด็ก

 

“กองทุนสื่อสร้างสรรค์” เครื่องมือช่วยพัฒนาสื่อ 

          ถ้าจะมีการออกแบบสอบถามเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนว่า นิยมสื่อชนิดใดมากที่สุด คนส่วนใหญ่คงต้องบอกว่า สื่อทีวี เป็นสื่อสารมวลชนที่พวกเขานิยมมากที่สุด เพราะได้ทั้งเห็น ทั้งฟัง ที่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย

 

          ทั้งนี้เพราะ สื่อทางทีวี เป็นเหมือนอาหารสำเร็จรูป ที่ถูกปรุงแต่งมาเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่ตักใส่จานก็เปิบได้ทันที…คนที่บริโภคอาหารจานนี้จึงไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำ มีหน้าที่เสพเพียงอย่างเดียว ทั้งสะดวกและสบาย

 

          แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้บ้างว่า การได้เสพสื่อชนิดนี้เป็นประจำ มันจะมีคุณค่าไม่แตกต่างไปจาก อาหารจานด่วนที่ทั่วโลกเขาบอกว่าเป็น อาหารขยะ คือ มีประโยชน์ไม่สมบูรณ์ แถมยังแทรกโทษเอาไว้อีกมากโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัว…เพื่อความแน่ใจลองมาฟังเสียงของคนที่เขาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงดูก็ได้

 

          นางยะดา รัชนิพนธ์ อาจารย์โรงเรียนหนองซ่อมตะเคียนงาม ปากช่อง กล่าวว่า เด็กวัยประถมมีปัญหาโรคสมาธิสั้นเช่นชั้นเรียนที่ตนสอนนั้น มีเด็ก 25 คน เมื่อทำการประเมินพบว่า เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นถึง 15 คน ทำให้ไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือ ซึ่งในฐานะแม่ก็พบปัญหาเดียวกัน

 

          ขณะที่ลูกอยู่ชั้นประถม 1 เด็กสามารถคิดเลขได้เร็ว แต่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้เลย เมื่อทำแบบประเมินก็พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นระดับ 3 ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากการให้ทีวีเลี้ยงลูก เพราะเด็กดูทีวีตั้งแต่เล็ก ต้องเปิดทีวีตลอดเวลาไม่สามารถปิดได้จะร้องไห้ ครั้นเมื่อมีการลดการดูทีวีลง พบว่าเด็กๆ เริ่มมีพัฒนาการดีขึ้นระดับของปัญหาสมาธิสั้นเริ่มลดลงได้

 

          นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า รายการโทรทัศน์ปัจจุบันโดยเฉพาะละคร ได้ปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ ในสังคม เช่น ตบตี ข่มขืน และวัฒนธรรมใหม่ คือ การแก่งแย่งแข่งขัน สอนให้แย่งชิงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และถ่ายทอดกระบวนการแย่งชิงความสำเร็จโดยไม่สนความถูกผิด

 

          สื่อยังมองผู้บริโภคเป็นเหยื่อที่จะทำอย่างไรก็ได้ และใช้วิธีการหลอกล่อคนดู ให้อยากดู อยากเห็น อยากซื้อ สิ่งที่เสนอ แม้ระยะหลังจะมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมผลักดันให้เกิดสื่อดีๆ แต่ไม่สามารถต่อต้านระบบนายทุนได้ ทำให้สื่อดีๆ ไม่มีที่ยืนในสังคม

 

          พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า รายการทีวีปัจจุบันเป็นการสร้างระบบแนวคิดใหม่ตามที่ผู้ผลิตสื่อต้องการ ให้ผู้ชมเสพแล้วเชื่อในสิ่งที่เสนอ แต่ความจริงสื่อจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม และระลึกว่าพลเมืองที่อยู่ร่วมกันมีความหลากหลาย ควรสร้างสิ่งที่จะตอบสนองคนทุกกลุ่มทุกวัยได้ แม้รายการโทรทัศน์ในปัจจุบันจะมีแนวโน้มดีขึ้น กว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็ตาม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดเพื่อแก้ปัญหา

 

          ด้วยข้อมูลตรงที่ได้จากประสบการณ์ของผู้อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก และมีผลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่นนี้แล้ว ความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เพ่งมองไปถึงการจะแก้ไขปัญหานี้ มีอยู่ทางเดียวคือ จะต้องมีการพัฒนาสื่ออย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง เพื่อให้เกิดสื่อที่ส่งสารถึงมวลชน เป็นสื่อที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อผู้เสพ ไม่ใช่เอาความสะดวกแต่ไร้คุณค่าเหมือนเป็นแค่อาหารขยะ

 

          เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อนี้ ได้มีการก่อตัวเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันจัดตั้ง กองทุนเพื่อการพัฒนาสื่อ ขึ้น

 

          นายสุริยะ ศึกษากิจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวคิดการตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ มีความคืบหน้าไปมากอยู่ในขั้นตอนการระดมความคิดเห็น ซึ่งเชื่อว่ากองทุนนี้จะเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาสื่อ โดยเฉพาะสื่อเพื่อเด็ก ซึ่งเป็นรายการที่ดีแต่ไม่สามารถหาแหล่งทุนสนับสนุนได้ กองทุนดังกล่าวจะเติมในส่วนที่ขาด เพื่อให้ผู้ผลิตทำรายการเพื่อสังคมได้ ส่วนการพัฒนาเรตติ้งต้องทำอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันสื่อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

          เมื่อโอกาสเปิดให้เกิดมีการพัฒนาสื่อ โดยจัดตั้งเป็นกองทุนให้เช่นนี้ หน้าที่ที่สื่อจะต้องกระโดดออกมารับทันที เพื่อเป็นการสร้างโอกาสที่ดีมีคุณค่าให้เด็กๆ (หรือคนไทยทุกคน) ได้มีโอกาสในการได้เสพสื่อที่มีคุณค่า และมีคุณภาพอย่างแท้จริง

 

          ส่วนแนวทางการสร้างสรรค์สื่อเพื่อให้เกิดการพัฒนา ควรจะอยู่ในกรอบแบบใดนั้น ผู้เกี่ยวข้องในเครือข่ายเพื่อการพัฒนา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ดังต่อไปนี้

 

          น.ส.สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนฯ มีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ครอบครัว รัฐ และโรงเรียนควรสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ เท่าทันสื่ออย่างเร่งด่วนและทั่วถึง 2. ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงหลัก 5 พ. คือ พัฒนา พอเพียง พิทักษ์สิทธิเด็ก เพิ่มเสียงเด็กและพื้นที่สร้างสรรค์ 3. เปิดให้มีส่วนร่วมในกองทุนสื่อสร้างสรรค์ 4. รัฐต้องสนับสนุนกิจกรรมการสร้างสรรค์ เพื่อเป็นทางออกทดแทนเวลาที่เด็กบริโภคสื่อ 5.สนับสนุนให้เกิดการทำงานกระบวนการเรียนรู้สื่อในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน

 

          เมื่อทุกอย่างลงตัวกันเช่นนี้ สิ่งที่สังคมจะได้รับคือ จะเป็นการยกระดับทางปัญญาของคนในสังคมได้ในระดับหนึ่ง ที่เราหวังว่าน่าจะเป็นส่วนใหญ่ของการสร้างชาติ สร้างพลเมือง เพื่อให้อยู่ในโลกแห่งการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะเป็นการยกระดับสื่อสารมวลชนในประเทศที่กำลังมีแนวโน้มว่า อาจจะมีสื่อไร้คุณภาพ หวังดีแต่ประสงค์ร้าย (อย่างไม่รู้) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

          เรื่องนี้เห็นทีว่า สังคมคงจะต้องเฝ้าจับตาดู และช่วยกันเฝ้าระวังสื่อที่ยังเปรียบเสมือนบัวที่อยู่ในโคลนตมให้สูญพันธุ์ไปจากสังคมด้วย

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

Update 15-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code