“กองทุนสื่อสร้างสรรค์” ความฝันที่รอเป็นจริง

วธ.เดินหน้าผลักดัน

 

          คน 14 ล้านคน คือ อนาคตของชาติพวกเขาเหล่านั้นคือเด็กและเยาวชนของเรา แต่ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะสื่อ เป็นปัจจัยแวดล้อมหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

          ไม่ว่าจะเป็นคดีอาชญากรรมที่พบเห็นได้รุนแรงขึ้นตามยุคตามสมัย และเกิดเป็นแฟชั่นในทางที่ผิดๆ จากการเลียนแบบสื่อที่พวกเขาพบเห็น อาทิ การปาหินใส่รถยนต์ที่กำลังสัญจรอยู่บนท้องถนนการยกพวกตีกันหรือปัญหาเด็กแว้นที่ไต่ระดับความรุนแรงเป็นเรื่องของฆาตกรรม ฯลฯ

 

          แม้ว่าการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สะท้อนความเป็นมาเป็นไปของสื่อนั้น จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการตอบสนองโจทย์ใหญ่ที่เป็นความต้องการของประชาชนส่วนมากในการรับรู้หรือสนใจเรื่องราวใดๆ จนทำให้สื่อนอกกระแสที่เป็นสื่อดีที่สร้างสรรค์กลับไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน

 

          อาทิ ชอบละครหลังข่าวที่มีการตบตีแย่งชิง ใช้ถ้อยคำรุนแรง หรือแม้แต่ชอบรายการบันเทิงดารามากกว่าแนวความคิดหรือหลักในการใช้ชีวิตของศิลปินเหล่านั้น ฯลฯ

 

          ดังนั้นแนวคิดเรื่องสื่อสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่เป็นการผลักดันจากหลายฝ่ายมาระยะหนึ่งแล้ว

 

          “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดสื่อดีและผู้ผลิตสื่อดีในสังคม เกิดจากการผลักดันของเครือข่ายเยาวชนและครอบครัวที่เดินหน้าต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว” ในฐานะผู้ร่วมอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การผลักดันกองทุนดังกล่าวอย่าง รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้อธิบายถึงความคืบหน้าว่า คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนายธีระ สลักเพชรรมว.วัฒนธรรม เป็นรองประธาน ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์แล้วขั้นตอนต่อไปคือให้ รมว.วัฒนธรรม นำเสนอเข้า ครม. และไปสู่สภาฯ ตามขั้นตอน

 

          ซึ่ง รศ.ดร.วิลาสินี บอกว่า ในกองทุนนี้จะมีงบประมาณส่วนหนึ่งมาจาก “ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่” ที่ได้กำหนดให้จัดสรรงบประมาณ 5% ให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ฯ และสนับสนุนกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดพื้นที่ดีๆ ที่เผยแพร่สู่คนในสังคมได้เอาเป็นแบบอย่างหรือเกิดแรงบันดาลใจนำสังคมสู่การพัฒนาทั้งกายและใจ

 

          อย่างไรก็ตามการลงทุนสำหรับเด็กและเยาวชนนั้น ในมุมมองปราชญ์ของแผ่นดินอย่าง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้วิเคราะห์การปฏิรูปสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนเป็น 7 โครงสร้าง ได้แก่

 

          1.ระดับหมู่บ้าน  รัฐบาลต้องร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลสนับสนุนงบส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านเกิดชมรมรักการอ่านจัดห้องสมุดประจำหมู่บ้าน 76,000 แห่งทั่วประเทศ เชื่อมโยงความรู้อย่างเป็นระบบ

 

          2.ตั้งศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล อาทิพิพิธภัณฑ์ตำบล ศูนย์ศิลปะการเรียนรู้และตลาดชุมชน

 

          3.ระดับจังหวัด ควรมีคณะทำงานเพื่อเด็ก สร้างเครือข่ายเยาวชนให้ครอบคลุมดำเนินงานได้อย่างครบวงจร

 

          4.ระดับชาติ  ต้องผลิตสื่อทุกประเภทให้เป็นสื่อที่ดีและสร้างสรรค์ จัดศูนย์จัดการความรู้ ประสานกับมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของไทยอ่อนแอ  นำวิชาเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการเรียน แต่ไม่ใช้ชีวิตของคนเป็นตัวตั้งเอาคุณค่าของเด็กไทยไปอยู่กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้เด็กต้องวิ่งเต้นติวเสียเงินเสียทอง นอกจากนี้สังคมไทยถูกกำหนดให้มีระบบชนชั้น ดูถูกคนที่ด้อยกว่าไม่เคารพศักดิ์ศรีของชนชั้นล่าง จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องสร้างให้เด็กและเยาวชนเคารพและให้เกียรติกัน

 

          5.ควรตั้งมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ ขยายเครือข่ายการทำงานด้านเด็กและเยาวชนผลักดันนโยบายเกี่ยวกับการสร้างคุณค่าให้เด็กและเยาวชน

 

          6.สร้างภาคีเพื่อเด็กและเยาวชน

 

         7.สร้างกองทุนการเงินและการคลังเพื่อสังคม

 

          เมื่อในภาคฝ่ายวิชาการได้ร่วมผลักดันสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมแล้ว ในส่วนฝ่ายนโยบายที่นับว่าเป็นฟันเฟืองหลักที่สำคัญที่จะผลักดันให้เรื่องนี้กลายเป็นความจริงในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างฝ่ายการเมือง ซึ่งท้ายสุดก็ได้รับคำยืนยันจาก นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรมว่าเตรียมเดินหน้าผลักดันกองทุนสื่อสร้างสรรค์ภายในรัฐบาลชุดนี้ และที่สำคัญกว่านั้นคือ ภายในปี 2552

 

          “ขณะนี้ตนได้ผลักดันให้จัดตั้งกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมสื่อดีให้เกิดขึ้นในไทย ซึ่งจะสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ และผู้รับสื่อไปพร้อมกัน จะเป็นการผ่าทางตันหาทางออกให้สื่อเด็กโดยอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนทั่วประเทศ จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป”

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

Update 26-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ