กองทุนสื่อสร้างสรรค์ สานฝันเด็กไทย
เครือข่ายเด็กเยาวชนบุกรัฐสภา ชงสนช. ดันร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ หวังบังคับใช้เป็นกฎหมาย ช่วยเด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ สร้างสรรค์-เหมาะกับวัย แนะกองทุนต้องเป็นอิสระไม่ติดระบบราชการ เน้นประชาชนมีส่วนร่วม
วันนี้(11พ.ย.57) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา10.30น. นายเชษฐา มั่นคง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ในฐานะตัวแทนเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก และเครือข่ายสื่อเด็กเปลี่ยนโลก นำกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจากเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และละครหุ่นเชิดสื่อพื้นบ้าน กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อขอให้เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เป็นเครื่องมือผลิตสื่อสร้างสรรค์ เด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ
นายเชษฐา กล่าวว่า สื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ เด็กและเยาวชนไทยกว่า 23ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่กับสื่อไม่น้อยกว่าวันละ8ชั่วโมง เป็นโทรทัศน์วันละ5.7ชั่วโมง อินเทอร์เน็ต3-5ชั่วโมง ส่วนพื้นที่สื่อดีของเด็กเยาวชนนั้นพบว่ามีแนวโน้มน้อยลงอย่างน่าตกใจ โดยวิทยุเด็กมีเพียงแค่1% ขณะที่เกมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสำหรับเด็ก13ปีขึ้นไป เนื้อหาส่วนใหญ่คือ“การต่อสู้”ภาพยนตร์กว่า64%ไม่เหมาะกับเด็ก สื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเด็กมีน้อยมาก รายการโทรทัศน์ มีความรุนแรงชั่วโมงละ3.3 ครั้ง การ์ตูนกว่าครึ่งล้วนแต่“ใช้ความรุนแรง”ส่วนเว็บไซต์ยอดนิยมกว่าครึ่งเป็น“สีเทา”ที่ใช้ภาษาไม่เหมาะสม และเรื่องเพศ อีก17.5% เป็น“สีดำ” คือหยาบคาย รุนแรง และลามกอนาจาร
“ทั้งหมดเป็นปัญหาที่เรื้อรัง และสะท้อนออกมาตามข่าวที่ปรากฏทางสื่อรายวัน ทั้งนี้เครือข่ายเยาวชนฯ ทราบมาว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ….กำลังเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.นั้นเครือข่ายเยาวชนฯ จึงเห็นว่าร่างพ.ร.บ.นี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยเด็กและเยาวชนไทยเท่าทันสื่อ เป็นหน่วยสนับสนุนให้เด็กและเยาวชน ชุมชน คนทุกกลุ่มสาขาอาชีพ มีส่วนร่วมพัฒนาสื่อและใช้สื่อในทางสร้างสรรค์ ลดพื้นที่เสี่ยง” นายเชษฐา กล่าว
อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแหง่ชาติ เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้
1.เครือข่ายขอขอบคุณที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นความสำคัญในปัญหาสื่อที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน จึงขอให้เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก เยาวชนและครอบครัวเป็นหลัก เพราะที่มาของร่างพ.ร.บ.นี้มาจากผลงานวิจัยที่พบว่าสื่อเพื่อเด็กมีจำนวนน้อย ซึ่งถ้าหากมีกองทุนดังกล่าวก็จะสามารถทำให้เพิ่มสัดส่วนของสื่อเพื่อเด็ก และกลไกที่ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงสื่อที่ดีมีคุณภาพได้
2.ขอให้ในการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯฉบับนี้ มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาเด็กและเยาวชน รวมถึงขอให้มีตัวแทนภาคประชาชนที่ทำงานในประเด็นดังกล่าวเข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมาธิการด้วย3.ขอให้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว คงความเป็นอิสระของกองทุนเอาไว้ ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของระบบราชการ เป็นกองทุนที่ประชาชน คนเล็กคนน้อยสามารถเข้าถึงได้ง่ายและตรวจสอบได้ โดยมีกลไกสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
ที่มา: สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน