กองทุนสร้างสุขภาพจากภาษีบาป ออสเตรเลียกับไทย
เพื่อรณรงค์การไม่สูบบุหรี่
ปีนี้เป็นที่ปีที่ครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้ง วิคเฮลท์ องค์กรต้นแบบที่ใช้งบประมาณจากภาษียาสูบ เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพและรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ คณะกรรมการจัดการประชุมบุหรี่และสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ได้ถือโอกาสนี้เชิญนาย Todd Harper ผู้จัดการวิทเฮลท์มาเป็นวิทยากรบรรยายถึงประสบการณ์ดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการควบคุมยาสูบของรัฐวิคตอเรียและออสเตรเลีย
วิคตอเรียเป็นรัฐแรกของออสเตรเลียที่ผ่านร่างกฎหมายนำภาษียาสูบมาตั้งองค์กรอิสระในกำกับของรัฐที่ทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมยาสูบในปี พ.ศ.2530 หลังจากนั้นไม่นาน รัฐอื่นๆ ก็ทยอยผ่านร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันออกบังคับใช้ ไม่กี่ปีให้หลัง องค์การอนามัยโลกได้นำผลงานความสำเร็จของวิคเฮลท์ออกเผยแพร่และแนะนำให้ประเทศสมาชิกนำไปเป็นแบบอย่างในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ในปี พ.ศ.2548 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดมสมองเพื่อหารูปแบบการจัดสรรงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ประเทศไทย ได้เชิญนางรอลดา แกลบาลี ผู้จัดการวิคเฮลท์ในขณะนั้นมาเป็นวิทยากร อันเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันจนเกิดพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 หรือ สสส. ของประเทศไทย
เช่นเดียวกับ สสส. วิคเฮลท์เป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนให้แก่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยงานด้านการควบคุมยาสูบได้ให้ทุนสนับสนุนแก่องค์กรเอกชนที่ชื่อว่า “ควิท วิคตอเรีย” ซึ่งทำหน้าที่รณรงค์ไม่สูบบุหรี่และสนับสนุนการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ เฉพาะควิทวิคตอเรียมีเจ้าหน้าที่ทำงานประจำถึง 35 คน มีผู้สูบบุหรี่โทรศัพท์เข้ามาขอคำปรึกษาเพื่อเลิกสูบ 25,000-30,000 รายต่อปี จากจำนวนประชากร 4 ล้านกว่าคนในรัฐวิคตอเรีย
งบประมาณของวิคเฮลท์มาจากภาษีบุหรี่ที่เก็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 คิดเป็นเงิน 25-30 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี นับเป็นเงินประมาณ 5-6 เหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 150 บาทต่อประชากรต่อปีสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพเทียบกับ สสส. ของไทยที่ได้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือประมาณ 30 กว่าบาทต่อคนต่อปี
ในปี พ.ศ.2540 ศาลสูงของออสเตรเลียมีคำพิพากษาว่ารัฐต่างๆ ไม่สามารถออกกฎหมาย เพื่อเก็บภาษีสินค้าต่างๆ เช่น สุรา ยาสูบ และน้ำมันเชื้อเพลิงมาตั้งเป็นกองทุน ดังเช่นที่ควิคเฮลท์และองค์กรสร้างเสริมสุขภาพรัฐอื่นๆ ทำอยู่ได้ โดยกฎหมายลักษณะนี้เป็นอำนาจของรัฐบาลกลางเท่านั้น แต่เนื่องจากวิคเฮลท์และองค์กรสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ ของออสเตรเลีย ได้สร้างผลงานที่มีประโยชน์มาก วิคเฮลท์และองค์กรสร้างเสริมสุขภาพของรัฐอื่นๆ ในออสเตรเลียจึงได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไปในรูปแบบเดิมทุกอย่างแต่แหล่งงบประมาณมาจากงบประมาณปกติที่จัดให้เท่ากับที่ได้รับปีสุดท้าย ก่อนการเปลี่ยนแปลงที่มาของงบประมาณ และให้ได้รับเพิ่มขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ
องค์ประกอบของคณะกรรมการวิคเฮลท์แตกต่างจาก สสส.ที่ประธานคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดย 3 คนจากด้านการป้องกันโรค 4 คนจากการกีฬา 2 คนด้านการบริหารธุรกิจหรือกฎหมาย 1 คนจากศิลปะ และ 1 คนจากธุรกิจโฆษณา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองใหญ่ที่สุด 3 พรรค พรรคละคนร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นผู้กำกับดูแลวิคเฮลท์
ผู้แทนจากต่างพรรคการเมืองทำให้เกิดการคานอำนาจซึ่งกันและกันภายในคณะกรรมการ
โครงสร้างคณะกรรมการของวิคเฮลท์ในทางหนึ่งทำให้สมาชิกรัฐสภาเข้าใจกระบวนการทำงานของวิคเฮลท์รวมทั้งทำให้การผลักดันแนวคิด นโยบายหรือร่างกฎหมายผ่านรัฐสภามีความเป็นไปได้มากขึ้น ขณะที่ในอีกทางหนึ่งเป็นการลดโอกาสที่ฝ่ายบริการและนักการเมืองจะแทรกแซงการทำงานของวิคเฮลท์เพื่อสนองนโยบายหรือผลประโยชน์ของพรรคพวกตน ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับผลประโยชน์ส่วนรวม
องค์ประกอบของคณะกรรมการทำให้วิคเฮลท์มีอิสระในการดำเนินงานเพื่อให้บังเกิดผลสูงสุดในการสร้างเสริมสุขภาพชาววิคตอเรีย
ขณะที่ สสส. ของไทยที่ประธานคณะกรรมการ คือ นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกที่ได้รับมอบหมาย และรองประธานคนที่หนึ่งคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและกรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน และผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ อีก 9 กระทรวง
ความแตกต่างขององค์ประกอบคณะกรรมการ คือ ของวิคเฮลท์มีตัวแทนจากฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ในคณะกรรมการ ในขณะที่ สสส.ไม่มีตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ แต่มีฝ่ายบริหารอยู่แทน
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวในหลายโอกาสว่า โครงสร้างคณะกรรมการ สสส. เป็นโครงสร้างที่ผิด เพราะเอาผู้แทนฝ่ายอำนาจมาปะปะกับผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นฝ่ายวิชาการ เมื่อไหร่ที่ฝ่ายอำนาจคิดจะใช้แต่อำนาจมากกว่าข้อเท็จจริงทางวิชาการก็จะเกิดปัญหาขึ้น
การดำเนินงานของ สสส. จึงมีโอกาสถูกฝ่ายบริหารแทรกแซงได้ง่าย และข่าวความวุ่นวายที่เคยเกิดขึ้นกับ สสส. ก็มีมูลเหตุจากพวกแทรกแซงนี้ โดยประธานคณะกรรมการบางท่านยึดติดกับวิธีการบริหารงานแบบเดียวกับที่เคยบริหารกระทรวงอื่นที่อยู่ในระบบราชการปกติ ในขณะที่งานของ สสส.เป็นงานนวัตกรรมที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update :25-07-51