กสทช.-อย.ร่วมดันมาตรฐานแก้ปัญหาการ โฆษณาเกินจริง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


'กสทช.-อย.' ร่วมดันมาตรฐานแก้ปัญหาการ โฆษณาเกินจริง thaihealth


แฟ้มภาพ


 


"กสทช.-อย." จัดทำแนวทางปฏิบัติกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพสู่ระดับพื้นที่ ส่วนภูมิภาค หลังทดลองในส่วนกลางแล้ว ประสบความสำเร็จ ลดขั้นตอนการ พิจารณาจาก 6 เดือน เหลือ 3 วัน เล็งเริ่มภาคเหนือ-ใต้ก่อน


พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากที่กสทช.และ สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) ได้ทำงานการกำกับดูแล การโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพร่วมกัน ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ รายการและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้การสรุปปัญหาเรื่องร้องเรียนรวดเร็วขึ้นจาก 6 เดือน เป็น 3 วัน


ดังนั้นกสทช.เตรียมดำเนินการในรูปแบบ เดียวกันนี้ ด้วยการจัดทำแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างรูปแบบการทำงานรูปแบบเดียวกับ ส่วนกลางไปยังภูมิภาคด้วย


ทั้งนี้ จากที่ผ่านมาการกำกับดูแลการเรื่องดังกล่าวเป็นภารกิจที่ กสทช. และ อย.ต่างก็มีอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายของตนเอง โดยสำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเฉพาะการกำกับดูแล การออกอากาศ รายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์  ทั้งการทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงาน ต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน  มากกว่านั้นบทลงโทษต่อการกระทำ ความผิดกรรมเดียวกันยังอาจต้องรับโทษ 2 ทาง ทำให้อาจเกิดความซ้ำซ้อนและเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมขึ้นมาและมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นหรือการตรวจพบการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่จะสามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยและชี้มูลได้ทันที


ด้านนพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า การขยายผลการ ดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค จะเริ่มที่ภาคเหนือ และภาคใต้ก่อน โดยมีกระบวนการดำเนินการ คือ มีการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาร่วมกัน ระหว่าง สำนักงาน กสทช. ภาค / เขต และ สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดย สสจ. ซึ่งได้รับ มอบอำนาจตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพจาก อย. จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการโฆษณานั้นๆ ทั้งนี้ อาจประสานสำนักงาน กสทช. ในส่วนภูมิภาคในเรื่องการเฝ้าระวังและข้อมูล หลักฐานต่างๆ แล้วส่งผลการวินิจฉัยมายัง สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง เพื่อดำเนินการกำกับดูแลต่อไป


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการอย. กล่าวว่า สสจ.จะบูรณาการร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ภาค และเขต ซึ่งกรณีที่ได้รับการประสาน ขอให้พิจารณาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพว่าเป็นไปตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือไม่ และหลังจากพิจารณาแล้วเสร็จ ให้จัดทำรายงานส่งผลการพิจารณา ส่งกลับหน่วยงาน กสทช. โดยเร็ว


โดยใช้รูปแบบหนังสือส่งรายงานการปฏิบัติงานให้กับ สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง และเพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ขอให้ใช้รูปแบบการประสานงานอย่าง ไม่เป็นทางการเพื่อรับและส่งข้อมูลการ เฝ้าระวังและแจ้งผลการพิจารณาตรวจสอบโฆษณา ระหว่าง สสจ. สำนักงาน กสทช. ภาค และ เขต ล่วงหน้าไปก่อน จากนั้นจึงจัดทำหนังสือเพื่อแจ้งรายงานการปฏิบัติงาน ไปยัง สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง อย่างเป็นทางการต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code