กสทช.จับมือสาธารณสุขนำร่องโครงการเทเลเฮลธ์
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
กสทช.จับมือสาธารณสุขนำร่องโครงการเทเลเฮลธ์ ใช้เน็ตความเร็วสูงรักษา 4 โรค
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท (เทเลเฮลธ์) ภายใต้โครงการจัดให้มีสัญญาณมือถือและบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล 3,920 หมู่บ้าน หรือเน็ตชายขอบ และในพื้นที่โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ใน 15,372 หมู่บ้าน เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ชนบท และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสื่อสารมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้คำปรึกษา รักษาสุขภาพเบื้องต้นของประชาชนในพื้นที่ชนบท โดยประชาชนไม่ต้องเดินทางมารักษาสุขภาพในโรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิกหมอครอบครัวได้ ในเบื้องต้นจะให้คำปรึกษาและรักษาเบื้องต้นใน 4 โรค คือความดัน, เบาหวาน, ตา, และผิวหนัง ซึ่งการรักษาดังกล่าว จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ และยังช่วยลดความแออัดของจำนวนคนไข้ที่จะเดินทางมาโรงพยาบาล รวมถึงช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางได้ด้วย
นายฐากร กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนนับจากนี้จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อทดลองระบบต่างๆ ที่จะนำไปสู่การรักษาโรค ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยมี รพ.สต.นำร่อง 15 แห่ง คลินิกหมอครอบครัว 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลจังหวัด 8 แห่ง และในอนาคตเมื่อผลประสบความสำเร็จ ก็จะขยายไปยัง รพ.สต.ทั่วประเทศ โดยสถานที่นำร่องดังกล่าว ได้มีการวางสายไฟเบอร์ออปติกเข้าถึง เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“โครงการเทเลเฮลธ์ นอกจากทำให้ประชาชนในพื้นที่ชนบท ได้รักษาเท่าเทียมกับคนในเมืองแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชน ไม่ต้องเดินทางมายังตัวเมือง และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายงบการรักษาพยาบาลของภาครัฐด้วย หากโครงการเทเลเฮลธ์ ประสบความสำเร็จ และเปิดให้บริการครบทุก รพ.สต.ในชนบท คาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า จะช่วยประหยัดงบสาธารณสุขของประเทศได้ปีละ 30,000-40,000 ล้านบาท อย่างแน่นอน”