กษ.รณรงค์หยุดเผาพื้นที่เกษตร
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
เนื่องจากกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดเดินหน้าส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกร โดยสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาและขยายพื้นที่นำร่องหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2562
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นควันที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเจ้าหน้าที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร รวมถึงสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ให้ถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในชุมชนของตนให้มีความรู้พื้นฐานเพื่อหยุดเผา และนำเทคโนโลยีจัดการเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ทดแทนการเผาได้ เช่น ใช้เครื่องสับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นวัสดุปกคลุมหน้าดิน ทำปุ๋ยหมักน้ำหมักเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน การไถกลบตอซัง จัดเก็บเศษวัสดุฟางข้าวมาเพาะเห็ดฟาง ซึ่งเกษตรกรและผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมและสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน รวมถึงเข้าร่วมทำกิจกรรมฐานเรียนรู้การปฏิบัติดังกล่าว ในวันสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผาและรณรงค์หยุดเผาที่แต่ละจังหวัดกำหนดประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2562
สำหรับปี 2562 มุ่งถ่ายทอดความรู้พัฒนาศักยภาพและสร้างเกษตรกร-ชุมชนต้นแบบขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเผาได้เป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่เป็นจุดเรียนรู้ขยายผลไปพื้นที่อื่น ขยายเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบปลอดการเผาจาก 120 ตำบลใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ น่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอนและอุตรดิตถ์ สู่พื้นที่ 16 จังหวัดที่พบว่ามีการเผาในพื้นที่การเกษตรสูง ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และอุดรธานี ทั้งนี้ ร่วมผลักดันเกษตรกรในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การทำการเกษตรปลอดการเผา ตามชุมชนต้นแบบปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตรจ.น่าน 2 ชุมชนคือ ชุมชนทุ่งศรีทอง อ.เวียงสา ลดการเผาด้วยการทำปุ๋ยหมัก ไถกลบตอซัง และเก็บเศษวัสดุฟางข้าว และ ต.ผาสิงห์ อ.เมืองฯ ลดการเผาด้วยการทำปุ๋ยหมักและเพาะเห็ดฟางจากเศษฟางข้าวกว่า 57 ตัน/ปี ลดการเผาฟางข้าวได้กว่า 72 ไร่ มีสมาชิก 43 ราย ผลิตเห็ดฟางได้ 600 กก. /เดือน จำหน่ายในพื้นที่ 80 บาท/กก. สร้างรายได้ 48,000 บาทต่อเดือน