กล้าพูด กล้าผิด เตรียมทักษะ ‘ภาษา’ สู่วัยทำงาน

ที่มา : มติชน 


ภาพประกอบจากมติชนออนไลน์


กล้าพูด กล้าผิด เตรียมทักษะ 'ภาษา' สู่วัยทำงาน thaihealth


เปลี่ยนความคิด กล้าพูด กล้าผิด เตรียมทักษะ 'ภาษาอังกฤษ' สู่วัยทำงาน


ทักษะภาษาอังกฤษถือเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานปัจจุบัน และเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในการรับนักศึกษาจบใหม่ จากผลการสำรวจผู้ประกอบการกว่า 400 บริษัท พบว่าทักษะที่นายจ้างต้องการจากนักศึกษาจบใหม่ประกอบด้วย 1.ทักษะการสื่อสารฟังพูดอ่านเขียน 2.ทักษะภาษาอังกฤษ 3.ทักษะในการทำงานที่ตรงกับสาขาวิชาชีพ ซึ่งพบว่าทักษะด้านภาษาเป็นสิ่งที่นายจ้างต้องการมากที่สุดติด Top 3 หรือคิดเป็นร้อยละ 62 โดยต้องการผู้มีทักษะด้านภาษาที่เทียบเท่ากับผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน


จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ช่วงมหาวิทยาลัยปิดเทอมนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด จัด โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอน "เตรียมตัวสู่โลกของงาน เรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างไรให้ใช้การได้" ถ่ายทอดเทคนิคการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองและจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักศึกษาและสามารถนำไปใช้เขียนเรซูเม่สมัครงานได้


กล้าพูด กล้าผิด เตรียมทักษะ 'ภาษา' สู่วัยทำงาน thaihealth


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ หรือ สสส. กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษให้สามารถใช้ได้จริงในการทำงานถือเป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องการมากที่สุด โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อให้น้องๆ นักศึกษาได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพราะส่วนใหญ่เมื่อปิดเทอมจะใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือ จึงอยากดึงทุกคนมาพัฒนาภาษาอังกฤษด้วยกัน ซึ่งโครงการนี้ได้ผู้มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษมาช่วยแนะนำแนวทางการพูด-อ่านเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และร่วมเผยข้อมูลโลกของการทำงานจากผู้เชี่ยวชาญบริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย)


อันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า โลกของการทำงานกับทักษะทางภาษาอังกฤษ ณ ปัจจุบันถือว่าการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง ถึงแม้จะมีงานเติบโตมากขึ้น 20 เปอร์เซ็นตลอดทุกปี แต่นักศึกษาจบใหม่ที่ยังหางานไม่ได้กลับมีอยู่มาก เพราะว่าขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ โดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษ


กล้าพูด กล้าผิด เตรียมทักษะ 'ภาษา' สู่วัยทำงาน thaihealth


"สำหรับคุณสมบัติที่นักศึกษาต้องมีเพื่อนำไปใช้สมัครงาน และเป็นสิ่งที่นายจ้างส่วนใหญ่ต้องการคือ 1.ทักษะเฉพาะในอาชีพ 2.ทักษะภาษาไทย การสื่อสาร ฟัง พูดอ่าน เขียน 3.ทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่บางที่ต้องการภาษาที่สาม และภาษาอังกฤษยังต้องเชี่ยวชาญในระดับสูง 4.การเปิดรับความรู้ใหม่ๆ อาทิ ใบประกาศนียบัตรการเข้าร่วมสัมมนาต่างๆ ที่ทำให้ผู้ว่าจ้างมองว่ามีการเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เสมอ และใช้พิจารณาในการรับเข้าทำงาน 5.การทำงานเป็นทีม ซึ่งหลายคนมักจะเจอคำถามเรื่องการทำงานเป็นทีม และส่วนใหญ่จะตอบว่าชอบทำงานคนเดียว 6.ความกระตือรือร้นหรือความมุ่งมั่น"


แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักมองหาผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษเพื่อรับเข้าทำงาน ซึ่งจากสถิติ ร้อยละ 70 ที่ไปสมัครงานแล้วไม่ได้งานเป็นเพราะว่าขาดทักษะภาษาอังกฤษ


ขณะเดียวกัน คริสโตเฟอร์ ไรท์ หรือครูคริส อาจารย์สอนภาษาอังกฤษชื่อดัง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยว่า ทุกวันนี้คนไทยมักคิดว่าภาษาอังกฤษไม่จำเป็นเพราะไม่ค่อยได้ใช้ แต่ความจริงภาษาอังกฤษอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาตลอด ฉะนั้นหากอยากเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เริ่มเปลี่ยนที่การคิดก่อน ถ้าเปลี่ยนการคิดได้ก็จะเปลี่ยนการกระทำได้  


กล้าพูด กล้าผิด เตรียมทักษะ 'ภาษา' สู่วัยทำงาน thaihealth


"แม้เด็กไทยจะเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลแต่ก็ไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะสังคมไทยไม่ได้สอนอะไรที่สนุกและง่ายต่อการเข้าใจ เรามักข้ามไปเรียนรู้หลักไวยากรณ์เพื่อนำไปใช้สอบอย่างเดียว เริ่มต้นในสิ่งที่ยากและเยอะเกินไป นอกจากนี้เด็กส่วนใหญ่ที่จะเก่งภาษาอังกฤษมักเคยถูกเลี้ยงดูจากคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ชอบพูด ชอบเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และนำไปสู่การเปิดรับสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เช่นการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ซึ่งเด็กเหล่านั้นจะไม่ดูผ่านๆ แต่จะตั้งใจลอกเลียนสำเนียงและคำศัพท์ที่พบเจอ จนทำให้สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง โดยส่วนตัวแล้วการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับผมไม่ใช่แค่การเรียนแค่ทฤษฎี แต่คือการเลียนแบบมาจากเจ้าของภาษา จดจำการพูด การฟัง การเขียนมาจากเขาทั้งหมด ซึ่งถ้ามีคนบอกให้ทุกคนหยุดเลียนแบบภาษาอังกฤษมาจากคนอื่น และบอกให้เปิดทฤษฎีในหนังสือเรียนรู้ตามหลักไวยากรณ์ เมื่อนั้นก็คือจุดจบของภาษาอังกฤษในประเทศไทย


"นอกจากนี้เมื่อถึงเวลาต้องพูดภาษาอังกฤษ ก็อย่ากลัวว่าจะพูดผิด เพราะคนไทยมักถูกตีกรอบว่าอย่าใช้ภาษาผิดๆ ซึ่งความจริงแล้วถ้าเรากล้าที่จะผิดและกล้ายอมรับให้ ผิดเป็นถูก ภาษาอังกฤษก็กลายเป็นเรื่องง่าย ไปเอง" ครูคริสกล่าว


สอดคล้องกับเรื่องราวของ น้องแชมป์-ธนโชติ เปี่ยมลาภธนบูรณ์ นักเรียนชั้น ม.2 ร.ร.อัสสัมชัญธนบุรี ซึ่งเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองจนผ่านการทดสอบวัดระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในระดับคะแนนสูงสุด


กล้าพูด กล้าผิด เตรียมทักษะ 'ภาษา' สู่วัยทำงาน thaihealth


น้องแชมป์เผยว่า ตอน ป.1 ครูชาวต่างชาติได้บอกกับตัวเองไว้ว่า "คุณก็เก่งภาษาอังกฤษได้ ถ้าคุณได้ฝึก ได้ตั้งใจและรู้สึกสนุกไป กับมัน" ตั้งแต่นั้นมาน้องแชมป์ก็เริ่มสนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น และพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการดูยูทูบ ดูหนังสือ ฟังเพลง ดูหนังที่เป็นภาษาอังกฤษ จึงได้คำศัพท์ ได้เสียง และได้สำเนียงไปพร้อมกัน นอกจากนี้ที่โรงเรียนยังมีครูต่างชาติเยอะ พอมีโอกาสก็มักจะไปพูดคุยด้วยเสมอ พอพูดไม่ถูกครูก็จะช่วยสอน ช่วยขัดเกลาให้


"บางคนไม่กล้าพูดเพราะกลัวว่าจะพูดผิด เกิดเป็นปมว่าคนอื่นจะดูถูก การเรียนรู้ภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่เรียนแต่ทฤษฎีหรือไวยากรณ์ใส่หัวอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ได้ฝึก ได้ปฏิบัติจริง และที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับภาษาอังกฤษก่อนว่ามันคือทักษะที่สำคัญในโลกของการทำงาน พยายามค้นหาเป้าหมายให้กับตัวเองว่าจะนำไปใช้อย่างไร เพราะผมเชื่อเสมอว่าภาษาอังกฤษก็คือกุญแจที่สามารถเปิดประตูต่อยอดไปสู่ อาชีพอื่นๆ ได้" ธนโชติบอก


โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดีจาก สสส. โดยสามารถช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ นำไปใช้ในช่วงปิดเทอมได้อย่างสร้างสรรค์  โดยเฉพาะการเปิดรับภาษาอังกฤษจากสื่อต่างๆ รอบตัว หรือแม้แต่สื่อโซเชียลมีเดียที่นอกจากจะทำให้มีความสุขและสนุกกับเรื่องที่อยากเรียนรู้แล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมเติมทักษะภาษาอังกฤษให้เราพร้อมก้าวไปสู่โลกของการทำงานที่มีการแข่งขันที่เข้มข้นได้ในอนาคต

Shares:
QR Code :
QR Code