กลไกปฏิรูปสื่อภาคพลเมือง
สร้างการเปลี่ยนแปลง
คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) ร่วมกับ เครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคพลเมือง จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง “กลไกปฏิรูปสื่อภาคพลเมือง” ในวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2553 ณ ห้องประชุม magic 3 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
เหตุผลในการจัดสัมมนา เนื่องจากในอดีตมีความพยายามในการผลักดันการปฏิรูปสื่อมาไม่ต่ำกว่าทศวรรษ มีการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายหลายฉบับ ความพยายามจัดการเรื่องโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ การพัฒนามาตรฐานจรรยาบรรณ
กระนั้นการปฏิรูปก็ยังไม่สำเร็จตามเป้าหมาย เพราะการปฏิรูปสื่อต้องดำเนินการร่วมกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ภาคประชาชนหลายกลุ่ม เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเฝ้าระวังตรวจสอบ แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากนัก เพราะมีอุปสรรคและช่องว่างหลายประการ อาทิ ขาดการยอมรับจากองค์กรสื่อและองค์กรรัฐ ไม่ทันต่อสถานการณ์ของสื่อที่มีความรวดเร็วสูง
ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของสื่อ และไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อ
นอกจากกลไกตามกฎหมาย กลไกการตรวจสอบกันเองของสื่อฯ แล้ว กลไกโดยภาคประชาชนจะต้องมีความเข้มแข็งเป็นระบบ มีความต่อเนื่องยั่งยืน มีการเชื่อมโยงการทำงานจากคณะทำงานหลากหลายสาขา และตรวจสอบสื่อหลากหลายประเภท ที่สำคัญต้องมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง
สำหรับการสัมมนา เริ่มเวลาประมาณ 09.00 น. หลังจากชมวีดิทัศน์ สื่อไทยใน 5 ปีข้างหน้าแล้ว เป็นอภิปรายกลไกภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อ โดย รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เสนอรายงาน เรื่อง สภาพปัญหา บทเรียนของกลไกการเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชนในสังคมไทย และความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชน ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน
ช่วงบ่าย สัมมนากลุ่มย่อยเรื่อง “กลไกภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อ” แบ่งเป็น 6 กลุ่ม คือ 1.กลไกการสร้างองค์กรและเครือข่ายผู้บริโภคสื่อ 2.กลไกการพัฒนากฎหมายและจรรยาวิชาชีพสื่อ 3.กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคและตรวจสอบสื่อ 4.กลไกการรู้เท่าทันสื่อ 5.กลไกการเฝ้าระวังสื่อ 6.กลไกการรณรงค์ทางสังคม
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
update : 05-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร