กลเม็ดเคล็ดลับป้องกันไตวายในผู้หญิง
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรมและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม "วันไตโลก" เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ "สตรีไทย ไต Strong" ซึ่งวันไตโลกในปีนี้ตรงกับวันสตรีสากลอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ธนันดา ตระการวนิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุกรรมโรคไต โรงพยาบาลวชิรพยาบาล อนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพสำหรับคุณผู้หญิง แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องจุกจิก แต่ก็เป็นสิ่งที่คุณผู้หญิงทั้งหลายไม่ควรละเลย เพราะการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่ามาเสียเวลา เสียทรัพย์ และเสียคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อต้องเป็นโรคไตวาย
ข้อแรก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้ยินอยู่เสมอคือ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เนื่องจากการดื่มน้ำน้อย ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจะหายช้า และขับเชื้อแบคทีเรียได้ไม่ดี ข้อต่อมาเป็นอีกข้อปฏิบัติที่เรารู้ดีแต่ละเลยพอๆ กับการดื่มน้ำ คือ ชอบกลั้นปัสสาวะ สาวๆ ควรจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองเสียใหม่ เมื่อดื่มน้ำเยอะแล้ว ทันทีที่รู้สึกปวดปัสสาวะ ก็ควรเข้าห้องน้ำทันทีอย่ารอนาน หลังจากทำธุระในการเข้าห้องน้ำแล้ว สาวๆ ควรทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธ์หลังถ่ายปัสสาวะอย่างถูกวิธี โดยการเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปหลัง เพื่อป้องกันการนำแบคทีเรียจากลำไส้ใหญ่และทวารหนักปนมาเข้าบริเวณท่อปัสสาวะ
สำหรับสาวๆ ที่แต่งงานแล้ว การวางแผนการมีบุตรเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคุณควรต้องตรวจสุขภาพความพร้อมของร่างกายเสียก่อน และเมื่อตั้งครรภ์แล้ว ควรตรวจปัสสาวะตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อตรวจดูว่ามีการติดเชื้อแอบแฝงหรือไม่ ถ้าพบต้องให้การรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรวยไตในภายหลัง ซึ่งจะก่อให้ เกิดภยันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ หรือใครที่เป็นโรคไต อยู่แล้วก็ยิ่งจำเป็นที่ต้องปรึกษาอายุรแพทย์โรคไต ถึงความเป็นไปได้และความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ ถ้าการทำงานของไตบกพร่องมาก หรือมีความดันโลหิตสูงมาก ควรชะลอการตั้งครรภ์ไว้ก่อนและมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีที่เหมาะสม
หากใครที่ชอบตั้งตนเป็นหมอรักษาโรคตัวเอง ก็ควรละเลิกเสียกับการซื้อยากินเองเป็นประจำ โดยเฉพาะ ยาแก้ปวดข้อ ปวดเส้น ปวดกล้ามเนื้อ เพราะยาประเภทนี้ หากใช้นานติดต่อกันจะทำให้ไตเสื่อมได้ ดังนั้นถ้ารู้สึก ไม่สบาย เจ็บปวดตรงไหนควรพบแพทย์ให้วินิจฉัยรักษาดีที่สุด รวมถึงการใช้ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ด้วย
สาเหตุหนึ่งของการเป็นจุดกำเนิดโรคไตอยู่ที่ไลฟ์สไตล์ของตัวเองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการกิน สาวๆ ที่ชอบอาหารรสจัด หวานจัด เค็มจัด ยิ่งใครชอบ ของทอดของมัน ขยันทำน้ำหนักตัวให้พุ่ง แถมยังไม่ ออกกำลังกาย ไม่ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้โรคไตมาเยือนคุณได้ง่ายๆ
การดูแลตนเองนอกจากที่กล่าวมาแล้ว การตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีเป็นสิ่งจำเป็น และถ้าจะให้มั่นใจยิ่งขึ้น ควรเช็คสุขภาพไตไปพร้อมๆ กัน ซึ่ง การตรวจสุขภาพไตขั้นพื้นฐานมี 3 อย่าง ได้แก่ การวัดความดันโลหิต การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดหาระดับคริอะตินิน จะบอกได้ขั้นต่ำว่าคุณมีโรคไตซ่อนอยู่หรือไม่
สำหรับ "วันไตโลก" ภายใต้แนวคิด "สตรีไทย ไต Strong" ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการ การตรวจสุขภาพโรคไตโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมการอธิบายให้ความรู้เรื่องโรคไต เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพไต และเรื่องของสตรีกับโรคไต ซึ่งจากการบริโภครสเค็มของ คนไทย ทำให้เป็นสาเหตุของโรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับผู้หญิงกับโรคไต ก็มีความเสี่ยงที่ต่างจาก เพศชายในบางกรณีเช่นกัน ผู้สนใจสามารถร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันที่ 3 มีนาคม 2561 นี้ ณ Atrium Zone ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.