กลุ่มแกล้งจน คนหนองสาหร่าย

ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรีมีการจัดระบบเรื่องการออม โดยตั้งชื่อสุดสร้างสรรค์ว่า “กลุ่มแกล้งจน” ซึ่งไม่ได้หมายความว่า มีเงินแล้วแกล้งจน วิธีคิดคือเอาทฤษฎีแกล้งดินของพระองค์ท่านมาจับคือ พระองค์ท่านตรัสไว้ว่า ดินพรุมันเป็นดินไม่ดีไม่สามารถปลูกพืชได้ พระองค์ท่านแกล้งด้วยการเอาน้ำเข้าเอาน้ำออก เอาปูนใส่ จนในที่สุดก็กลายเป็นดินดีได้

นั่นเป็นที่มาที่ชาวชุมชนหนองสาหร่ายนำมาคิดกันต่อว่า คนในชุมชนจนเพราะอะไร จนเพราะเรื่องเงินใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นลองเอาเงินเข้าเงินออกตามทฤษฎีของพระองค์ท่านดู คือเอาเงินเข้าให้เป็นทุน แล้วก็แปลงออกไปให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน ในที่สุดเงินก็จะเริ่มเป็นประโยชน์

ในครั้งแรก ทางกลุ่มแกล้งจนมีเงินอยู่เพียงแค่ 1,200 บาท ลงทุนคนละ 30 บาท เมื่อใครไม่มีทุนก็เข้ามาเอาเงินจากตรงนี้ไปใช้ จากการเก็บเล็กผสมน้อยภายในเวลา 5 ปี กลุ่มแกล้งจนมีเงินเกือบหนึ่งล้าน โดยตัวเลขถูกเขียนไว้อย่างชัดเจนที่กระดานแสดงเงินฝากเงินกู้ของกลุ่ม

โดยก่อนหน้านั้น เรื่องการออมทรัพย์นี้ มีเจ้าหน้าที่ ธกส. เข้ามาเสนอทุนที่จะจัดตั้งธนาคารชุมชน แต่ชุมชนเลือกที่จะตอบปฏิเสธเงินก้อนนั้นไป ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ

บุญศรี มณีวงษ์ ประธานศูนย์เรียนรู้ เล่าให้ฟังว่า “ถ้าไปเอาเงินเขามา นั่นแปลว่า เราก็ต้องเอาเครื่องมือเขา เอากฎ ระเบียบของเขามาใช้ด้วย แถมดอกผลต่างๆ ก็ต้องส่งกลับให้ ธกส. ชุมชนก็เลยคิดว่า ทำเท่าที่ทำได้ และใช้เงินของชุมชนเอง เพื่อที่ผลตอบแทนจะได้ไม่ไหลออกนอกชุมชน ซึ่งเห็นพ้องว่า น่าจะเหมาะกว่า อีกอย่างคนในชุมชนจะได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ซึ่งชุมชนสามารถออกแบบกฎ-กติกาที่เน้นความเอื้ออาทรได้ตามที่ต้องการได้ เวลาใครมากู้ ก็จะปล่อยให้เขาเป็นคนวางแผนการใช้เงิน และการคืนเงินด้วยตนเองว่า คุณจะนำเงินมาคืนกลุ่มอย่างไร ต้องให้เขาคิดว่า ตอนนี้มีเพื่อนที่รอคุณอยู่ เมื่อเพื่อนช่วยคุณแล้ว คุณจะช่วยเพื่อนอย่างไร แต่ว่า ภายใน 10 เดือน ก็ต้องส่งคืนให้หมด”

นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจ ที่ชุมชนอื่นจะนำไปปรับใช้ตาม โดยเฉพาะในแง่การบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความคุ้มทุน และไม่รั่วไหลออกนอกชุมชน

หากปัจจัยอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้การทำงานของบุญศรีประสบความสำเร็จ แม้จะถูกต่อต้านจากคนในชุมชน คือ การยึดหลักเดียวกับพระนเรศวร ถ้าระเบิดจากในชุมชนไม่ ได้ เราต้องใช้หลักตีล้อมจากภายนอก ต้องไปสร้างเครือข่าย สร้างเพื่อน หาแรง กำลัง ใจจากนอกชุมชน แล้วตีกลับมาสร้างความเข้าใจแก่ชุมชน

“สิ่งที่จะฝากถึงชุมชนอื่นๆ ที่อยากจะพึ่งพาตนเองได้ ชุมชนต้องอย่าไปวิ่งตามเงิน เหมือนอย่าไปวิ่งตามเงา ยิ่งตามก็ไม่เจอ หลักเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราจับทฤษฎีได้ คนรวยคนจนใช้ได้หมด” บุญศรีทิ้งท้าย

 

 

 

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ