กลุ่มเลี้ยงหมูดำ

ที่มา : หนังสือ วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ส่งเสริมอาชีพ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และประชารัฐ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


กลุ่มเลี้ยงหมูดำ  thaihealth


กลุ่มเลี้ยงหมูดำ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก


กลุ่มเลี้ยงหมูดำ เริ่มต้นจากการที่  เพ็ญศรี รัตติวัลย์ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มในขณะนี้ เคยทำงานอยู่ที่จังหวัดแพร่ แล้วเกิดความรู้สึกว่าหากยังทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่แบบนี้คงไม่พอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว จึงเข้าไปร่วมอบรมฝึกอาชีพที่จังหวัดพิจิตรเป็นเวลา 3 เดือน และเกิดความรู้สึกชอบ


ต่อมาในปี 2543 เพ็ญศรีได้กลับบ้านเพื่อมาทำไร่ข้าวโพดและสวนกล้วยกับสามี จึงเกิดแนวคิดที่จะเลี้ยงหมูขึ้น เนื่องจากสามารถนำข้าวโพดและกล้วยที่เหลือจากการจำหน่ายมาใช้เป็นอาหารหมูได้


โดยในช่วงแรกได้ทดลองเลี้ยงหมูก่อน 6 ตัว เลี้ยงได้ 7 เดือน และขายได้ 10,700 บาท เกิดความรู้สึกว่าขายได้กำไรน้อยจึงได้ไปศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบเพิ่มเติม คราวนี้ทำการบันทึกข้อมูลรวมพฤติกรรมของหมูไว้อย่างละเอียดเพื่อจะนำข้อมูลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง โดยข้อมูลหลักๆ จะแบ่งออกเป็นสองด้าน คือ ข้อมูลด้านรายจ่ายในการเลี้ยงหมูรวมถึงรายได้จากการเลี้ยงหมูหลังกายขายได้ ข้อมูลอีกด้านหนึ่งคือข้อมูลด้านเทคนิคการเลี้ยง ช่วงเวลาในการเจริญเติบโตของหมู โดยสำหรับคนที่ไม่มีเงินมาซื้อหมู ทางเพ็ญศรีก็จะยินยอมให้เอาลูกหมูไปเลี้ยงก่อน แต่เมื่อเลี้ยงจนโตขายหมูได้ก็ให้เอาเงินส่วนนั้นมาแบ่งคืนให้แทน ทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ปะ มานพ ยะเขียว ได้เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นในการขยายผลของกลุ่มเลี้ยงหมูดำ จึงได้ส่งเสริมด้านงบประมาณให้แก่กลุ่ม โดยวิธีการให้เงินกู้เป็นจำนวน 50,000 บาท เพื่อนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในการจัดซื้ออาหารหมู


สำหรับการดำเนินงานของกลุ่ม มีการสร้างกลุ่มเครือข่ายสมาชิกของกลุ่มเลี้ยงหมูดำที่เข้มแข็ง เพื่อรักษาพันธุ์หมูพื้นเมืองไว้ มีการแบ่งยืมลูกหมูจากกลุ่มให้สมาชิกนำไปเลี้ยงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อขายได้หรือมีลูกหมูเกิดใหม่จะต้องนำเงินหรือลูกหมูมาคืนเท่าจำนวนที่ยืมจากกลุ่มไป ทั้งยังมีการรวมกลุ่มกันกำหนดราคาขายหมูเพื่อขยายยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น กลุ่มได้ทำงานเชื่อมโยงกับสถาบันเทคโนโลยีเกษตรตาก ในการจัดอบรมเพิ่มพูนทักษะให้สมาชิกในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ฝึกการทำคลอดหมูตั้งแต่แรกเกิดจนถึงการเลี้ยงดูในระดับโตเต็มวัย


ผลจากการจัดตั้งกลุ่มฯ ช่วยให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นรายละ 10,000-13,000 บาทต่อเดือน เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้กลุ่มยังทำการจัดการเลี้ยงหมูให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยมีการใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำนำมาล้างเล้าหมูทุกอาทิตย์

Shares:
QR Code :
QR Code