กลุ่มเลี้ยงผึ้ง ณ เกาะขันธ์
ที่มา : หนังสือเกาะขันธ์จัดการตนเอง เรื่องโดย กฤตตฤณ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
กลุ่มเลี้ยงผึ้ง ณ เกาะขันธ์ จ.นครศรีธรรมราช
ใครคนหนึ่งเดินเข้ามาในวงสนทนาอาโกเมศร์จึงแนะนำให้ผู้รู้จักกับ ชม ชูปาน ผมจำหน้าเขาได้ เพราะเป็นหนึ่งใน ชรบ. และผมยังชอบไฮไลต์ผมสีน้ำตาลของ ‘พี่ชม’
พี่ชมบอกกับผมว่า คนเกาะขันธ์มีดีเอ็นเอของเกษตรกร ทุกบ้านต้องมีสวนยาง สวนผลไม้ และสวนครัว ด้วยความที่มีสวนผลไม้ เมื่อถึงฤดูกาลผึ้งจะมาป้วนเปี้ยนอยู่เสมอ
“แล้วคนบ้านเราก็ใช้น้ำผึ้งผสมยา บางคนชอบกินบำรุงร่างกาย เมื่อมาดูในพื้นที่ ก็คิดว่าเราน่าจะเลี้ยงได้” พี่ชมกล่าว
กระทั่งพี่ชมเข้าร่วมประชุมรายเดือนที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรตำบลเกาะขันธ์ ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอชะอวดถามว่าอยากทำอะไรเพิ่ม พี่ชมเห็นรอบข้างเงียบกัน เลยลองเสนอไอเดียเลี้ยงผึ้ง เมื่อไม่มีใครเสนอเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอชะอวดจึงตอบรับความคิดดังกล่าว และติดต่อไปยังศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร จังหวัดชุมพร
ทางศูนย์ส่งวิทยากรมาช่วยอบรมวิชาการเป็นเวลาสองวัน มีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ อย่างสาธิตการจับผึ้งเข้ารัง วิธีการดูแลและทำความสะอาด
หลังการอบรม พี่ชมเริ่มต้นทำรังผึ้ง โดยใช้ไม้เก่ามาตอกเป็นกล่องความยาว 50 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร และสูง 28-30 เซนติเมตร ทำฝาปิดขนาดเท่ากัน เปิดร่องไม้ไว้เล็กน้อยเพื่อให้ผึ้งบินเข้ามาทำรัง นำไปตั้งบนขาซึ่งทำจากท่อพีวีซี ให้ความสูงของรังอยู่ระดับอก แล้วเทปูนหล่อฐาน
ด้านในให้เอารังผึ้งมาต้ม ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปติดไว้ใต้ฝาปิดด้านบน ทาน้ำผึ้งเพื่อล่อให้ผึ้งมาทำรัง เมื่อถึงหน้าผลไม้เริ่มติดดอกหรือกลางเดือนมีนาคม ผึ้งจะเริ่มกลับมาทำรัง โดยผึ้งงานบินดอมต้นไม้ เก็บน้ำหวานกลับมาสะสมไว้ที่รังเพื่อเป็นอาหาร พี่ชมบอกว่า ทั้งเงาะ ทุเรียน กล้วย หรือพืชชนิดใดก็ตามที่มีดอก จะมีน้ำหวาน
พี่ชมและกลุ่มเลี้ยงผึ้งมา 6 ปีแล้ว โดยช่วงที่ได้น้ำผึ้งมาก คือเดือนเมษายนและพฤษภาคม ซึ่งไม้ผลเริ่มออกดอกมาก
“ปีนี้เรียบร้อย ฝนตกหนัก ไม้ผลติดแต่ยอดไม่ติดดอก น้ำผึ้งก็น้อยตาม อย่างปีปกติ กลุ่มจะทำได้ 100 ขวด ปีนี้ได้แค่ 20 ขวด คุณภาพก็ไม่ค่อยจะดี โดยเฉพาะดอกทุเรียน จะทำให้น้ำผึ้งหอม” พี่ชมเล่า
ตอนนี้กลุ่มเลี้ยงผึ้งมีรังอยู่ 30 รัง กระจายกันไปตามสวน โดยน้ำผึ้งที่ได้กลุ่มจะคั้นขายใส่ขวด ราคาขวดละ 400 บาทสำหรับคนในหมู่บ้าน ถ้าไปข้างนอกขาย 500 บาท
อาโกเมศร์ช่วยเสริมว่า ที่เกาะขันธ์มี ‘ไม้ผลปรังธรรมชาติ’ คือออกนอกฤดูเอง ไม่ได้ทำ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ชาวสวนเก็บผลไม้ในฤดูขายหมด พอเดือนกันยายนถึงตุลาคม ไม้ผลจะเริ่มออกดอกใหม่ ทำให้ผึ้งไม่ขาดช่วง กระทั่งปลายปีฝนมา ผึ้งจึงหายไป
ว่าแล้วพี่ชมก็แปลงร่าง แต่งองค์ทรงเครื่องด้วยเครื่องป้องกัน เพื่อไปเก็บน้ำหวานมาให้ผมชิม หลังจากร่างกายมิดชิดแล้ว ขั้นต่อมาต้องจุดควันตะเกียง ซึ่งด้านในใส่กะลามะพร้าวแห้งไว้ พอปิดฝาควันจะพวยพุ่งขึ้นมาช่วยไล่ผึ้งอีกแรง เมื่อถึงรังที่เลือก พี่ชมเปิดฝารังออกช้าๆ ทันใดนั้นผึ้งแตกฮือไปคนละทาง เห็นรังชุ่มน้ำผึ้งแล้ว ผมแทบอดใจไม่ไหว
พี่ชมใช้มีดปาดรังลงถังที่เตรียมมาแคล่วคล่องว่องไวสมกับที่ผมเรียกพี่ ไม่ถึงสิบนาทีก็เก็บรังได้หมด ก่อนปิดฝาพี่ชมฉีกรังส่วนหนึ่งวางกลับไปใหม่ เพื่อให้ผึ้งสานต่องานที่คั่งค้าง
ผมฉีกรักผึ้งส่วนหนึ่งมาจากมือขออาโกเมศร์ แล้วชิมรสน้ำผึ้งแสนกลมกล่อมแถมยังอุ่นๆ จากรังอีก…