กลุ่มสตรีพิการ เย็บปัก สร้างอาชีพ
กลุ่มสตรีพิการเย็บปัก –ประดิษฐ์ ตำบลหนองหล่ม มีสมจิตร เผ่ากันทะ เป็นประธานกลุ่ม โดยอาศัยใต้ถุนบ้านไม้สองชั้นหลังหนึ่งในหมู่ 7 เป็นที่ทำการแหล่งเรียนรู้ ซึ่งอยู่ในระบบจิตอาสาและสวัสดิการสังคม
สมจิตร ก่อตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อปี 2537 พร้อมกับเพื่อนอีก 3 ด้วยความที่เธอและเพื่อนอีกสองคนคุยกันว่า อยากรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ ไม่เป็นภาระของใคร จึงไปปรึกษากับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(ในตอนนั้น) และได้รับคำแนะนำมาว่า การจะตั้งกลุ่มได้นั้นต้องมีสมาชิกอย่างน้อยหกคน เธอจึงไปชักชวนเพื่อนที่พิการมาอีก 3 คน จนเกิดเป็นกลุ่มสตรีพิการ โดยแนวคิดหลักของกลุ่มสตรีพิการเย็บปัก-ประดิษฐ์บ้านหนองหล่มคือการที่จะได้มาพบกัน ช่วยเหลือกัน และช่วยกันสร้างรายได้ให้กับตนเองและสมาชิกในกลุ่ม
ในช่วงแรกกลุ่มสตรีพิการเย็บปัก-ประดิษฐ์ ที่ได้รับเงินสนับสนุนมาจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยา (พมจ.) เป็นเงินรายหัว หัวละ 3,000 บาท โดยสมจิตรและเพื่อนเอามาลงทุนซื้อของเพื่อทำขาย โดยทำในลักษณะต่างคนต่างเอาไปทำที่บ้าน เมื่อสิ้นเดือนก็เอาสินค้ามารวมกันเพื่อนำไปขายในงานกาชาด เมื่อได้เงินมาก็แบ่งสรรปันส่วนรายได้เท่าๆ กันในกลุ่มสมาชิก พบว่า ระบบการทำงานโดยแบ่งกันแบบนี้ ทำให้คนที่ทำงานรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม เพราะคนทำมากและทำน้อยได้ผลตอบแทนไม่ต่างกัน
ต่อมาพวกเธอมีโอกาสไปขายในงานโอท๊อปที่เมืองทองธานีครั้งแรก พบว่า ของที่ทำนั้นขายไม่ได้ แม้จะเกิดความท้อแท้ เพราะเงินทุนหมดไป แต่สมาชิกกลุ่มสตรีพิการก็ไม่ยอมแพ้ พวกเธอยังคงรวมกลุ่มกันและของบความช่วยเหลือจากพมจ.มาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้นอกจากงบประมาณแล้ว สิ่งที่พวกเธอได้มาเพิ่มเติมคือการเรียนรู้ รูปแบบ และลวดลายต่างๆ ของการเย็บการปัก การใช้สี การออกแบบ ที่วิทยากรจาก พมจ.มาช่วยสอน ซึ่งนอกจากการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าที่ผลิตแล้ว ก็ยังมีการเปลี่ยนระบบการทำงานด้วย จากการที่ต่างคนต่างทำกลายมาเป็นการทำงานร่วมกัน ใช้เงินที่ได้มาเป็นต้นทุนร่วม และแบ่งปันค่าแรงตามชิ้นงานที่แต่ละคนทำ
เงินที่เหลือเก็บไว้เป็นกำไรในกลุ่ม หากมีของที่ต้องลงทุนซื้อก็เอาเงินนี้มาซื้อ ในปีที่ผ่านมาพวกเธอสามารถใช้เงินก้อนนี้ซื้อจักรใหม่เพื่อใช้ทำงานเพิ่มถึง 3 ตัว และจากนั้นทุก 3 ปี ก็เอากำไรที่เหลือมาแบ่งกัน โดยการแบ่งปันนี้ ก็แบ่งให้ทั้งคนที่ทำงานได้และทำงานไม่ได้ “แรกๆ เขาก็ทำด้วย แต่ตอนหลังอ่อนแรง สายตาไม่ดีก็ทำงานไม่ได้” สมจิตรขยายความว่าทำไมพวกเธอจึงเต็มใจที่จะแบ่งให้คนที่ไม่ได้ทำงาน
การทำงานของกลุ่มมีการทำบัญชีรับจ่ายที่ชัดเจนโปร่งใส ทุกคนสามารถเปิดดูได้ตลอดเวลา สมจิตรรับหน้าที่ทำบัญชีเอง เธอบอกว่า การทำให้เห็นชัดๆ แบบนี้ จะได้ไม่ต้องคอยตอบคำถามว่าเงินมาจากที่ไหนไปที่ไหน และการแบ่งงานก็จะแบ่งกันตามความสามารถและความถนัดของแต่ละคน รวมไปถึงต้องพยายามใช้ต้นทุนที่มีอยู่ในท้องถิ่นด้วย
“เมื่อก่อนเราใช้ผ้าบาติก เราขายไม่ได้ เพราะผ้าบาติกเป็นของทางใต้ แต่ตอนหลังเราเปลี่ยนมาใช้ผ้าทอ แล้วก็ปักลายแบบชาวเขา เพราะใครๆ ก็จะรู้ว่าผ้าฝ้ายทอเป็นของทางเหนือ แล้วเขาก็รู้ว่าบ้านเรามีชาวเขา” ประธานกลุ่มอธิบายวิธีคิดที่ทำให้สินค้าของพวกเธอขายดีขึ้น “แล้วที่พมจ.มาช่วยเราก็ช่วยได้มาก เขาเอาของที่เราทำมาดู ซึ่งปักเยอะมาก หนึ่งวันเราทำได้ไม่กี่ชิ้น เฉลี่ยแล้วได้ค่าแรงแค่วันละสิบกว่าบาท เขาก็มาแนะนำให้ปักลายให้แค่พอดีๆ ใช้เวลาต่อชิ้นไม่มาก”
วิธีคิดเช่นนี้ทำให้เดือนหนึ่งๆ สตรีพิการเหล่านี้มีรายได้ไม่ตำกว่าห้าพันบาทต่อเดือน ด้วยลักษณะงานที่ทำที่ต้องมีความใกล้ชิดกัน ทำให้สมาชิกของกลุ่มต้องตั้งเงื่อนไขในการเข้าร่วมกลุ่มไว้อย่างชัดเจน นั่นคือ พวกเธอจะยินดีรับเฉพาะสมาชิกผู้หญิง ต้องมีความอดทนที่จะทำงาน และต้องไม่ใช้ผู้พิการทางสมอง เพราะที่ผ่านมาเธอพบว่าเมื่อมาทำงานร่วมกัน จะทำให้เกิดปัญหาได้
“เราเคยรับคนพิการทางสมองเข้ามา แต่เข้ากันไม่ได้เพราะพวกเขามีอารมณ์รุนแรง” สมจิตรแจง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอจะกีดกันคนอื่นๆ เพราะที่บ้านหลังนี้นอกจากจะเป็นที่ตั้งของกลุ่มสตรีพิการแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของชมรมคนพิการ และ ศูนย์การเรียนรู้คนพิการด้วย โดยปัจจุบันสมาชิกชมรมคนพิการมีมากถึง 110 คน
“ผู้ชายเขาก็อยากเข้ากลุ่มด้วย เราก็เลยมาเปิดเป็นชมรมคนพิการ แล้วก็มีกิจกรรมทุกเดือน โดยกิจกรรมที่จัดนั้น จะเป็นกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์กับคนพิการโดยตรง เช่น การทำน้ำยาอเนกประสงค์สำหรับซักผ้า เพราะรู้ว่าผู้ดูแลคนพิการต้องใช้สิ่งเหล่านี้มาก หรือการทำลูกประคบเพื่อใช้ในการทำกายภาพบำบัด การทำยาหม่อง น้ำมันไพลเพื่อใช้นวด เป็นต้น” สมจิตรเล่า
ทุกวันนี้ กลุ่มสตรีพิการฯ สามารถทำสินค้าได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าใส่โทรศัพท์ กระเป๋าหูรุด กระเป๋าคาดเอว ย่ามการบูร กระเป๋าสตางค์ ซองแว่นตา ย่ามใหญ่ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดรายได้ที่ช่วยเหลือดูแลตัวเองได้แล้ว การเข้ามารวมกลุ่มกันยังทำให้คนพิการเหล่านี้รู้ว่าพวกเขามีเพื่อน มีสังคม มีโอกาสได้แสดงออก
“เมื่อก่อนเราต่างคนต่างอยู่ ถึงอยู่บ้านใกล้กันแต่ก็ไม่เคยรู้จักกัน ก็เหงาเครียด ไม่สบาย แต่พอเรามารวมกลุ่มกันก็มีเพื่อนที่คุยกันเข้าใจ ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทั้งด้านการทำงานและความคิด” สมจิตร บอกถึงข้อดีของการรวมกลุ่ม
การรวมกลุ่มนี้ก็ยังทำให้หน่วยงานหลายๆ หน่วยงานเข้ามาสนับสนุนการทำงานของพวกเธอได้ดีด้วย เป็นต้นว่า พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดพะเยา ที่ให้เงินลงทุนในเบื้องต้น การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ช่วยให้แนวทางในการผลิตสินค้า เทศบาลตำบลหนองหล่มที่หาจักรเย็บผ้ามาให้ในตอนแรก คอยสนับสนุนรถรับส่งเมื่อต้องไปขายของในที่ต่างๆ
ด้วยการทำงานอย่างตั้งใจทำให้สมจิตร เผ่ากันทะ ได้รับรางวัลคนพิการดีเด่นประจำจังหวัดถึง 2 ปีซ้อน และในปีนี้เธอก็ยังได้รับรางวัลผู้อยู่ในภาวะยากลำบากที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม อีกทั้งในปีนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังมอบโล่รางวัลให้คนพิการและองค์กรต้นแบบที่ได้รับบริการจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต แก่สมจิต เผ่ากันทะ ในฐานะต้นแบบที่มีความรับผิดชอบในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ที่มา : ปันสุข