กลับบ้านเรารักรออยู่ ‘โชว์ แชร์ เชื่อม’ ของ สสส.
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพโดย สสส.
จากการ ที่ สสส.หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้จัดกิจกรรม “โชว์ แชร์ เชื่อม” ขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านเวทีความคิดทำให้พบว่าการชักนำให้ คนหนุ่ม คนสาว กลับคืนสู่บ้านนา เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสุขภาวะชุมชนให้ยั่งยืน และยังเป็นการพัฒนาท้องถิ่นให้มั่นคงยั่งยืนอีกด้วย
“โชว์ แชร์ เชื่อม” มีความหมายถึงการประสานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อคนในชุมชน และการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. เปิดเผยให้ทราบว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้ดำเนินการจัดเวที โชว์ แชร์ เชื่อมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อประสานภาคีเครือข่ายที่มีความถนัดด้านต่าง ๆ ให้มาพบปะ แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานในพื้นที่ ซึ่งเรามองว่าการทำเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย และการปลูกป่าชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ เพราะถ้าแหล่งอาหารไม่ปลอดภัย ชาวบ้านอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่คุณภาพแย่ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนในชุมชนได้โดยตรง ในการจัดเวทีครั้งนี้ได้มีการเชิญภาคีเครือข่ายจากหลายจังหวัดในภาคอีสานมาเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ รวมกว่า 70 คน โดยมีภาคีเครือข่ายเจ้าบ้านจังหวัดบุรีรัมย์เป็นพี่เลี้ยงแนะแนวทางวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่จนเกิดเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น และยังเป็นการช่วยเสริมทัพบุรีรัมย์ให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากการประสานเครือข่ายใหม่ ๆ ให้เกิดการเกาะกลุ่มรวมตัวกันขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการทำงานข้ามประเด็นที่นอกเหนือจากความมั่นคงทางอาหาร และป่าชุมชน แต่ในอนาคตจะต้องขยายการสร้างเสริมสุขภาพในองค์รวม ทั้งเรื่องเหล้า บุหรี่ การออกกำลังกายและอื่น ๆ เพราะปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนมีผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนทั้งสิ้น
จากการพูดคุยกับภาคีเครือข่ายที่มาจากต่างจังหวัดหลายคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เวทีนี้มอบแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้พวกเขากลับไปทำงานในพื้นที่ของตัวเอง บางคนถึงกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะเริ่มทำเกษตรผสมผสานภายในเดือนสองเดือนนี้เลย ทาง สสส. จึงขอขอบคุณภาคีเครือข่ายที่ตั้งใจเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อมารวมตัวแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และต้องขอบคุณบัณฑิตอีกหลายต่อหลายคนที่ตัดสินใจหวนคืนสู่อ้อมกอดบ้านนาด้วยใจอยากพัฒนาผืนดินอันแห้งแล้งให้กลายเป็นสีเขียวของผลหมากรากไม้ และยังไม่ลืมแบ่งปันองค์ความรู้จากหยาดเหงื่อ เป็นทางเลือกให้กับผู้คนที่ต้องการค้นหาความหมายที่แท้จริงของการใช้ชีวิตเพื่อร่วมกันสรรค์สร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในบ้านเกิดของตนเอง
นางสาวจิณพร ดีรบรัมย์หรือเอม จากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของภาคอีสาน ได้ทุนเรียนต่อถึงป.เอก แต่กลับเลือกทิ้งสิ่งที่หลาย ๆ คนใฝ่ฝัน กลับสู่มาตุภูมิ มาเป็นเกษตรกรสาวชาวจังหวัดบุรีรัมย์ เล่าให้ฟังว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของเธอมีผลต่อครอบครัวคนใกล้ชิดอย่างมาก เธอต้องใช้ความอดทนมากมายเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้แม่เห็น ว่าการทิ้งปากกามาจับจอบเสียมดีกว่าอย่างไร เริ่มจากการทำเกษตรบนพื้นที่ 6 ไร่ของน้าชาย เธอได้นำองค์ความรู้ที่เคยร่ำเรียนมาใช้ประโยชน์จริง และหันมาทำเมล็ดพันธุ์แท้ขายผ่านทางออนไลน์ ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเมล็ดพันธุ์แท้จะทนต่อสภาพแวดล้อม ทนต่อแมลงและโรคต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการผลิต เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นที่ปลูกไว้เป็นเชื้อพันธุ์ต่อไปได้
คุณคำนึง เจริญศิริเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกสวนป่า ปี 2562 กล่าวว่า ผมตัดสินใจทิ้งงานจากพนักงานบริษัทเอกชนรายได้งามในเมืองกรุงหวนกลับบ้านเกิด ณ ดินแดนที่ราบสูงด้วยความคิดที่ว่า สุขใดจะจริงแท้เท่าอยู่บ้าน แล้วมานะพยายาม แปรเปลี่ยนผืนนาว่างเปล่ากว่า 30 ไร่ในวันวาน ให้กลายเป็นป่าชุมชนคุณค่าอนันต์ ชาตินี้ผมตายตาหลับแล้ว แม้จะเป็นต้นไม้ต้นเดียวที่ได้ปลูกลงแผ่นดิน ผมก็พอใจ ทุกวันนี้ “บ้านหนึ่ง” กลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนทั่วสารทิศ และยังเป็นต้นแบบให้กับชาวบ้าน หันมาทำเกษตรแบบผสมผสานเลี้ยงชีพ สุขภาพก็ดีขึ้นเพราะไม่ต้องพึ่งสารเคมี แถมไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินให้นายทุนหรือเจ้ามือในบ่อนพนันอีกต่อไป
คุณสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์หรือ“ลุงรินทร์” คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 และคณะที่ 8 สสส. พูดถึงผลจากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม จ.บุรีรัมย์ ในครั้งนี้ ว่า ที่ จ.บุรีรัมย์ มีจุดเด่นชัดเจนในเรื่องการทำเกษตรกรรมอย่างเข้มแข็ง มีเกษตรกรต้นแบบหลายคนที่พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่โลกภายนอก และที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือที่นี่มีองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมา เช่น ภูมิปัญญาด้านอาหาร การนำวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น มาประกอบเป็นเมนูต่าง ๆ ที่ทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพ และที่นี่ยังมีเครือข่ายสังคมที่เข้มแข็ง ผู้คนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ความสุขเกิดจากการได้อยู่ร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนสิ่งดี ๆ ให้แก่กันถือเป็นการสร้างสังคมสุขภาวะตรงตามที่ สสส. นิยามไว้
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวคือ หัวใจของการ “โชว์ แชร์ เชื่อม” กิจกรรมที่สำคัญอีกรูปแบบหนึ่งของ สสส.ที่สัมผัสได้จริง