กรุงเทพปลอดบุหรี่ ไม่ไกลเกินฝัน

ร่วมมือกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนกรุง

กรุงเทพปลอดบุหรี่ ไม่ไกลเกินฝัน 

          รายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อต้นปีนี้ระบุว่า มีประเทศเพียงไม่กี่ประเทศที่จัดได้ว่าปลอดบุหรี่ และประชากรของประเทศเหล่านี้ คิดเป็นร้อยละห้าของประชากรโลกเท่านั้น ประเทศอุรุกวัย ไอร์แลนด์ เป็นตัวอย่าง กรณีที่เป็นรัฐหรือเมืองก็มีรัฐแคลิฟอร์เนีย กรุงวอชิงตันดีซี

 

          คำกำจัดความว่า “ปลอดบุหรี่” ไม่ได้หมายความว่าไม่มีบุหรี่ หรือไม่มีการสูบบุหรี่

 

          แต่หมายความว่าประชากรที่ไม่สูบบุหรี่ของประเทศหรือเมืองเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองอันตรายของควันบุหรี่มือสองร้อยเปอร์เซ็นต์ ในที่ทำงานและในที่สาธารณะ โดยมีการออกกฎหมายระบุชัดเจนและมีการบังคับใช้กฎหมายที่ได้ผล

 

          ผมไปวอชิงตันดีซีเมื่อปีที่แล้ว เดินผ่านหน้าโรงพยาบาลเห็นป้ายน่าสนใจเขียนว่า “ห้ามสูบบุหรี่ในรัศมี 50 ฟุต หน้าทางเข้าโรงพยาบาล” ที่บอกว่าที่สาธารณะและที่ทำงานปลอดบุหรี่ 100% นั้น หมายถึงว่าที่เหล่านี้ไม่มีการจัดที่สูบบุหรี่ไว้ให้ ผู้ที่จะสูบบุหรี่ต้องไปสูบข้างนอกที่เหล่านี้

 

          หันกลับมาดูประเทศไทย เราจะปลอดบุหรี่ 100% โดยคนไทยทุกคนที่ไม่สูบบุหรี่ไม่ต้องได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสองในที่ทำงานและในที่สาธารณะได้หรือไม่

 

          ผมคิดว่าเราทำได้ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร

 

          กรุงเทพฯ มีอัตราการสูบบุหรี่ที่ต่ำที่สุดของประเทศไทย โดยชายไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีอัตราการสูบบุหรี่ 24% หญิง 1% ในขณะที่ภาคอื่นๆ ชายไทยยังสูบบุหรี่ 40% และหญิง 1-2%

 

          เพราะคนกรุงเทพฯ มีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารพิษภัยของควันบุหรี่มือสองมากกว่า และโดยเฉลี่ยมีระดับการศึกษาสูงกว่าที่อื่นๆ และกรุงเทพ ก็ห้ามสูบบุหรี่ในโรงหนังและรถเมล์มาตั้งแต่ พ.ศ.2519

 

          ที่สำคัญผู้ว่า กทม.คนปัจจุบันได้ประกาศนโยบาย “กรุงเทพน่าอยู่” ซึ่งควรครอบคลุมถึงการไม่ให้มีควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะด้วย มิฉะนั้นแล้ว จะบอกว่ากรุงเทพฯ น่าอยู่ได้อย่างไร หากคนไม่สูบบุหรี่ต้องหายใจเอาควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายในที่สาธารณะ

 

          ประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ที่ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและที่ทำงานก็ครอบคลุมสถานที่สาธารณะเกือบทั้งหมดแล้ว แม้แต่ป้ายรถเมล์ ตลาดสด สวนสาธารณะ ผับบาร์

 

          สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในทุกที่ที่กฎหมายกำหนดให้ชัดเจน มีการตรวจตราเตือนผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการรณรงค์ให้ประชาชนรู้ถึงอันตรายควันบุหรี่มือสอง และการขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายคนกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่จะทำให้กรุงเทพฯ ปลอดบุหรี่ 100% เป็นจริง

 

          และผมยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่ไกลเกินฝัน”

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 25-11-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code