กระเทาะโมเดลสูงวัยแดนโสม สู่นโยบายผู้สูงอายุไทย

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพโดย สสส. และแฟ้มภาพ


กระเทาะโมเดลสูงวัยแดนโสม สู่นโยบายผู้สูงอายุไทย thaihealth


เพราะประเทศที่ได้ถูกจัดอันดับว่าคือหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว และได้ชื่อว่ามีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจติดอันดับโลกอย่างเกาหลีใต้กลับมีอีกความจริงที่ต้องเผชิญไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นั่นคือ ปัญหาผู้สูงอายุของเกาหลีใต้ ที่วันนี้เกือบจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่ยากจนที่สุดในโลก


เกาหลีใต้ถูกจัดว่าก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) รวดเร็วที่สุดในโลก โดยใช้เวลาเพียง 18 ปี แต่อีกปัญหาสำคัญคือ ผู้สูงวัยในแดนกิมจิยังมีความยากจนในหมู่ผู้สูงวัยสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม หรือกลุ่ม OECD โดยพบว่ามากกว่า 50% ของจำนวนผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ตกอยู่ในสภาวะความยากจนและไม่ได้รับสวัสดิการที่เพียงพอ


ประเด็นดังกล่าวถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่ไทยไม่ควรพลาด ซึ่งในเวทีเสวนาสาธารณะ "สังคมสูงวัยไทย – ญี่ปุ่น :  สูงวัยอย่างมีพลังในโลกยุคดิจิทัล (Digital and Active Ageing in Japan and Thailand )" ที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ  สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย สมาคมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และ SASAKAWA PEACE FOUNDATION ได้จัดขึ้นที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะหยิบเอาสถานการณ์ดังกล่าวของประเทศเกาหลีใต้ นำมาเป็นบทเรียน และช่วยสะกิดเตือนใจว่า เราควรเดินตามอย่างไรจึงจะดีที่สุด?


โดย ดร.คิม ซุง-วอน นักวิจัยเรื่องสังคมผู้สูงอายุ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้ถ่ายทอดสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมสูงวัยในเกาหลีใต้ ว่า ด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ ทำให้เกาหลีใต้ต้องเผชิญปัญหาลักษณะทางประชากรที่มีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ส่งผลให้สัดส่วนและจำนวนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง และประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น


กระเทาะโมเดลสูงวัยแดนโสม สู่นโยบายผู้สูงอายุไทย thaihealth


"สังคมเกาหลีใต้ปัจจุบันมีลักษณะสังคมยุคใหม่ที่หนุ่มสาวมีช่องว่างระหว่างวัยกับผู้สูงอายุมากกว่าประเทศไทย แต่ถือเป็นเรื่องที่ทั้งโชคดีและโชคร้ายในเวลาเดียวกัน ที่แม้ประเทศอื่นส่วนใหญ่ผู้สูงวัยจะอยู่ด้วยเงินบำนาญที่คนหนุ่มสาว แต่คนหนุ่มสาวในเกาหลีใต้อาจยังไม่ต้องแบกภาระตรงนี้อย่างเต็มที่ จึงทำให้หนุ่มสาวยังไม่รู้สึกว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อคนสูงวัยมาก"


ปัจจุบันสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุในเกาหลีใต้มีถึง 14% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเทียบเท่ากับสัดส่วนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นช่วงปี 1993-1994 ขณะที่ญี่ปุ่นมีการเตรียมความพร้อมมาก่อน โดยใช้เวลา 25 ปี โดยได้มีการนำระบบบำนาญมาใช้แล้ว ตั้งแต่ปี 1961 ส่วนเกาหลีใต้เองกลับเพิ่งมีระบบบำนาญในปี 1999 นี้ ทำให้ปัจจุบันผู้สูงวัยในเกาหลีใต้จึงไม่ได้รับบำนาญครบทุกคน


ซึ่งแม้เกาหลีใต้จะเดินหน้าเรื่องนี้มาหลายปี โดยได้นำ Success Model จากหลายประเทศพัฒนาแล้วมาใช้แต่จากผลลัพธ์ที่ออกมา ทำให้พบว่าระบบเหล่านั้นกลับไม่ได้ "เหมาะ" กับสภาพสังคมเกาหลีใต้ อย่างที่คิด


ระบบสวัสดิการผู้สูงอายุเกาหลีใต้เองยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอ ผู้สูงอายุในเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อยที่มีรายได้ต่ำและต้องทำงานเมื่อแก่ชรา เพราะไม่สามารถพึ่งพิงลูกหลาน อีกทั้งได้รับเงินสวัสดิการจำนวนน้อยนิด


กระเทาะโมเดลสูงวัยแดนโสม สู่นโยบายผู้สูงอายุไทย thaihealth


โดย ดร.คิม ยังยกตัวอย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือ การที่เกาหลีใต้ใช้ระบบประกันสังคม แบบที่ประเทศพัฒนาแล้วมาใช้เต็มรูปแบบ แต่ปรากฏว่าระบบนั้นกลับไม่เอื้อหรือสามารถทำงานได้ผลดี หรือแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ ที่สำคัญเกาหลีใต้ยังเกิดปัญหาผู้สูงอายุยากจนถึง 49% ที่ไม่ได้รับบำนาญอยู่ดี


"สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ ที่ผ่านมาเกาหลีใต้เรียนรู้ระบบทั้งหมดของระบบหรือโมเดลการช่วยเหลือผู้สูงอายุมาแล้วเกือบทุกโมเดลของประเทศชั้นนำในโลก โดยไปดูงานตามประเทศพัฒนาแล้วทั้งใน อเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น แล้วเลือกที่จะยกมาใช้ทั้งหมด ซึ่งทำให้ไม่สอดคล้องกับบริบทของสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ เช่น ในด้านงบประมาณการคลัง หรือระบบเศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้นไม่ได้มีเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ" ดร.คิม อธิบาย


เมื่อวิเคราะห์ลึกไปถึงเหตุผลที่ทำไมการนำโมเดลที่มองว่าดีเยี่ยมและผู้สูงอายุในตอนนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วมาใช้แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ? ดร.คิม ให้ข้อมูลว่า เรื่องสภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญการใช้งบประมาณจำนวนมากในเรื่องระบบการดูแลผู้สูงอายุเริ่มส่งผลกระทบต่อปัญหาหนี้สาธารณะและเงินในคลังของหลายประเทศ แม้แต่ในประเทศต้นแบบแนวคิดเองก็กำลังหนักใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะพยายามหาแนวทางแก้ไข โดยการเสริมมาตรการ ช่วยเหลืออื่น ๆ ทั้งด้านการเงินและมาตรการต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่มีรูปธรรมชัดเจนมากนัก


กระเทาะโมเดลสูงวัยแดนโสม สู่นโยบายผู้สูงอายุไทย thaihealth


ต่อมาปี 2549 เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมเกาหลีใต้ เมื่อ "เอกชน" หลายราย ที่ได้ลุกขึ้นมาและจับมือกับภาครัฐ รวมถึงชุมชนร่วมกันจัดตั้งศูนย์สวัสดิการชุมชน (Welfare Center) เพื่อที่จะช่วยกันแก้ปัญหาในเรื่องนี้


โดยศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมชนขึ้น 4 แห่ง ต่างทำงานขับเคลื่อนสังคม เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานระหว่าง ผู้สูงอายุและชุมชน ศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมชนจึงเป็นทั้งโรงอาหาร ส่งอาหาร ตรวจสุขภาพ จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ และยังมีเจ้าหน้าที่ที่คอยประสานกับเอกชนหรือร้านค้าในชุมชนให้บริจาคเป็นบริการต่าง ๆ เช่น ตัดผม รับประทานอาหาร ในร้าน คาราโอเกะ โดยการใช้คูปอง ต่อมาปี 2558 จึงมีศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมชน 454 แห่ง ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต ให้บริการด้านสวัสดิการพื้นฐานแก่ผู้สูงอายุเกาหลีใต้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งโมเดลดังกล่าวดูจะประสบความสำเร็จอย่างดี


ดร.คิม เอ่ยว่า ปัจจุบันแนวทางการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวนั้นในเกาหลีใต้ก็มีทั้งกลุ่มที่มองว่าเห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะบางคนมองว่าระบบนี้ควรดำเนินการโดยรัฐและมีการทำงานที่เป็นระบบอย่างชัดเจนมากกว่า แต่บางกลุ่มก็มองว่าศูนย์เหล่านี้จะเป็นการทางออกที่ยั่งยืนของการแก้ปัญหาเรื่องผู้สูงวัยสังคม


"แต่สำหรับผมมองว่าควรมีการรวมตัวกับเอกชนกับชุมชนท้องถิ่นน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ดีที่สุด" ดร.คิม กล่าว


เมื่อให้วิเคราะห์เปรียบเทียบสถานการณ์ผู้สูงอายุระหว่างเกาหลีใต้กับไทย ดร.คิม เอ่ยว่า ในประเทศไทยจากที่รับทราบข้อมูลไทยยังเพิ่งเริ่มระบบประกันสุขภาพผู้สูงอายุในตอนนี้


"แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้เห็นคือ ประเทศไทยเองมีข้อดีคือเป็นประเทศที่มองเห็นตัวอย่างความล้มเหลวของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศมาก่อน ทำให้จึงไม่ได้นำหรือยกมาใช้ทั้งหมด แต่มีการหยิบยกบางส่วนและนำมาพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย มองว่าเป็นจุดแข็งที่ดีของประเทศไทย เพราะการที่ไทยได้เรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ ทำให้รู้ว่าแต่ละโมเดลไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้จริงในทุกประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยรู้จักเรียนรู้บทเรียนเหล่านี้ โดยไม่ได้นำโมเดลมาใช้ทั้งหมด เชื่อว่าจะทำให้มองเห็นช่องโหว่หรือปัญหาบางอย่าง หรืออาจพบมุมมองใหม่ ๆ ที่เป็นโอกาสในการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย"


สุดท้าย ดร.คิม เอ่ยว่า การที่ไทยได้เห็นบทเรียนจากเกาหลีใต้ในครั้งนี้จะช่วยให้ไทยนำบทเรียนที่พบกลับมาพัฒนาหรือสร้างระบบที่เป็นนวัตกรรมเป็นของตัวเอง ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาผู้สูงวัยของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจ และน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าประเทศอื่น

Shares:
QR Code :
QR Code