กระสุนนัดเดียว เปลี่ยนได้ทั้งชีวิต
ต้องสู้คือคำตอบสุดท้ายที่ต้องทำ
“รับจ้างกรีดยางมานาน จนเก็บเงินได้ 80,000 บาท ตั้งใจไว้ว่าจะเก็บเป็นทุนไปประกอบพิธีฮัจญ์ พอลูกมาโดนยิง จึงต้องเอาเงินที่เก็บออกมารักษาลูกจนหมด ใครบอกว่าหมอไหนดีก็ไปหาหมด เปลี่ยนหมอมาเกือบ 40 กว่าคนแล้ว” นี่คือเสียงโอดครวญของผู้เป็นแม่ ประโยคที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใยในตัวลูกชายผู้เคราะห์ร้ายอย่างนายกอเดร์
นายกอเดร์ (นามสมมติ) หนุ่มใหญ่วัย 33 พร้อมด้วยภรรยา ลูก และแม่วัยชราอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ในชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ทั้งสี่คนใช้ชีวิตอย่างราบรื่นมีความสุขตามอัตภาพเยี่ยงชีวิตชนบท โดยมีนายกอเดร์ที่ทำอาชีพรับจ้างแบกไม้ยางเป็นกำลังสำคัญของบ้าน ในขณะที่มารดารับจ้างกรีดยางหวังเก็บเงินไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะห์
แต่อนาคตของครอบครัวนี้ต้องเปลี่ยนไป ด้วยกระสุนเพียงนัดเดียว
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2550 ขณะที่นายกอเดร์ขี่รถจักรยานยนต์กลับจากทำงาน ระหว่างทางมีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์ตามประกบแล้วใช้อาวุธปืนยิง กระสุนหนึ่งนัดถูกที่แผ่นหลังทำให้รถของเขาเสียหลักพุ่งเข้าข้างทาง เขาจึงหลบซ่อนอยู่ในป่า ก่อนออกมาขอความช่วยเหลือแล้วถูกนำส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมา เขาใช้เวลารักษาตัวนานถึง 3 เดือน โดยมีแม่คอยดูแลอยู่เคียงข้างตลอดเวลา
เคราะห์กรรมเริ่มซ้ำเติมเมื่อภรรยาเริ่มตีตัวออกห่างและหนีจากไปอยู่กินกับชายอื่น ความเจ็บปวดในใจบั่นทอนกำลังใจของเขารุนแรงพอๆ กับเมื่อต้องรู้ว่าแรงของกระสุนส่งผลให้เขากลายเป็นอัมพาต ซ้ำบางครั้งมีอาการปวดร้อน เจ็บปวดเหมือนถูกแทงด้วยเข็ม จนปัจจุบันอาการเหล่านั้นก็ยังไม่หาย
ในขณะที่นายกอเดร์ป่วย แม่ก็ต้องดูแลอยู่ไม่ห่าง ทำให้ทั้งสองขาดรายได้ที่ควรจะเป็น เงินทองที่เก็บออมของครอบครัวหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล และค่าเดินทาง
เหตุการณ์เช่นนี้ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนใหญ่แล้วจะถูกตัดสินว่าเป็นเหตุความไม่สงบ ซึ่งจะได้รับช่วยเหลือจากภาครัฐตามที่กำหนด และเขาก็หวังไว้เช่นนั้น แต่จากการสืบสวนของภาครัฐปรากฏว่าเหตุดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัว เขาจึงไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานต่างๆ มีเพียงหน่วยงานเดียวที่เขาก็ไม่แน่ใจว่าเป็นหน่วยงานใด มอบเงินช่วยเหลือให้จำนวนหนึ่ง จึงเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ทั้งนี้ยังได้รับเบี้ยยังชีพเพื่อคนพิการรายเดือนจาก อบต. จำนวนไม่มาก พอประทังชีวิตได้อีกทางหนึ่ง
ทีมงานของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศวชต. ได้มีโอกาสเยี่ยมเยียนครอบครัวเคราะห์ร้ายรายนี้เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา การพบปะในครั้งแรกนี้ สร้างความดีใจแก่นายกอเดร์และมารดาอย่างยิ่ง โดยหนุ่มใหญ่คนนี้บอกความรู้สึกในขณะที่พลิกตัวอย่างยากลำบากว่า
“ตั้งแต่เกิดเหตุกว่าสองปี มีหน่วยงานมาเยี่ยมนานมาแล้วเพียงครั้งเดียว แล้วก็เงียบไป และครั้งนี้แหละที่เป็นหน่วยงานที่สอง ดีใจมาก รู้สึกดี อยากให้มาอีกบ่อยๆ” นายกอเดร์พูดอย่างตื่นเต้น และบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้หมดกำลังใจ เคยคิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง แต่มีมารดาและลูกเป็นกำลังใจมาตลอด ที่สำคัญใช้การรำลึกถึงอัลลอฮโดยการกล่าวนามพระองค์และละหมาดเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้รู้สึกใกล้ชิดกับอัลลอฮ จึงมีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
ในขณะที่มารดาที่นั่งดูและอยู่ข้างๆ เธอได้รำพันถึงความเป็นอยู่หลังจากเกิดเหตุว่า “เงินหมดก็จำนองที่ดิน ไม่เคยคิดเสียดายเงินเลย เพียงแค่ลูกหายเจ็บก็ยอม เพราะสงสารที่เห็นลูกต้องทนเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา กินก็ไม่ได้ กลางคืนก็ไม่ได้นอน”
ปัจจุบันครอบครัวนี้เปิดร้านขายของชำเล็กๆ พอมีรายได้ยังชีพ และเป็นช่องทางเดียวที่ผู้เป็นแม่จะสามารถดูแลลูกไปด้วยในคราวเดียวกัน ความเป็นอยู่อาจไม่สะดวกสบายเท่าวันเก่าก่อน แต่ทั้งคู่ยังสู้ชีวิตกันอย่างเต็มที่ด้วยความอบอุ่นจากความรักระหว่างกัน
จากครอบครัวที่เคยอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตามประสาคนชนบทกลับเปลี่ยนไปและตกอับด้วยกระสุนเพียงนัดเดียว ชะตากรรมในลักษณะคล้ายกันนี้ยังมีอีกหลายกรณีในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง แต่พวกเขาทั้งหมดยังเชื่อมั่นว่า นี่คือบททดสอบจากเบื้องบน
ที่มา : จดหมายข่าว รอบรู้สุขภาวะใต้ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) ปีที่ 2 ฉบับที่ 7 ประจำเดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2552
update: 31-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร