“กระท่อม” ยาเสพติดหรือยารักษาโรค???
หมอพื้นบ้านชี้! กินถูกวิธีช่วยบรรเทาโรคได้
ผลวิจัยชี้หมอพื้นบ้าน เกือบ 100% ใช้กระท่อมเป็นยารักษาท้องร่วง เบาหวาน แก้ปวดเมื่อย ระบุ ใช้ร่วมกับชุมเห็ดเทศ กินแบบไม่เอาก้าน ห้ามกลืนกาก กินแล้วไม่ติด ถ้าติดมีตำรับยาล้างพิษ นักวิชาการ ชี้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านขาดหายเพราะกระท่อมกลายเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไม่กล้านำมาใช้ ควรต่อยอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในอนาคตพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้
นางปราณี รัตนสุวรรณ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ภาควิชาเภสัชเวท และเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ ได้ทำการวิจัยเชิงสังคมศาสตร์ เรื่อง “ภูมิปัญญาการใช้กระท่อมของหมอพื้นบ้านภาคใต้ของประเทศไทย” ในการประชุมวิชาการประจำปี 2551 การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
นางปราณี กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยทางเอกสาร ในการศึกษาเชิงพื้นบ้าน การศึกษาเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะจงโดยทำการสัมภาษณ์หมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์การใช้กระท่อมในการรักษาผู้ป่วย ทั้งหมด 49 คน อายุอยู่ในช่วงระหว่าง 61 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และแบ่งกลุ่มหมอพื้นบ้านที่มีใบประกอบโรคศิลปะและไม่มีใบประกอบโรคศิลปะซึ่งกว่าร้อยละ 50 มีประสบการณ์เป็นหมอพื้นบ้าน 21-30 ปี ผลจากการศึกษา พบว่า มีเอกสารในการอ้างอิง 3 เอกสาร โดยข้อมูลแหล่งความรู้เกี่ยวกับการใช้กระท่อมร้อยละ 71.4 ได้มาจากบรรพบุรุษ สำหรับที่มาของกระท่อมมากจากปลูกเอง ร้อยละ 48.98 และหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนำกระท่อมมาใช้รักษาโรคร้อยละ 95.9
นางปราณี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลการสัมภาษร์เจาะลึกและสนทนากลุ่ม โดยวิเคราะห์จากความถี่ของโรคที่หมอพื้นบ้านนิยมใช้กระท่อมรักษาโรค พบว่า มีการใช้กระท่อมรักษาอาการท้องร่วงมากที่สุด ร้อยละ 67.4 เบาหวานร้อยละ 63.3 แก้ปวดเมื่อยร้อยละ 32.7 รูปแบบที่ใช้มากที่สุดคือ การใช้ใบเคี้ยวคายกากแล้วดื่มน้ำตาม และมีข้อห้ามกับคนที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งกระท่อมในการรักโรคชนิดที่มีฤทธิ์ดี คือ ชนิดก้านแดง ส่วนอาการข้างเคียงที่พบในกระท่อม คือ ท้องผูก กลัวฝน การใช้กระท่อมจึงนิยมใช้ร่วมกับใบชุมเห็ดเทศ และวิธีการรับประทานกระท่อมไม่ให้เสพติดคือรูดเอาแต่ใบไม่เอาก้านและเมื่อเคี้ยวห้ามกลืนกาก ถ้าติดแล้วให้ใช้ตำรับยาล้างพิษ นอกจากนี้ หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่มีความเห็นให้มีการนำมาใช้ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน
“ในอดีตกระท่อมถูกนำมาใช้เพื่อให้ผู้ที่ต้องทำงานหนัก ทำงานได้ทน ไม่เหนื่อย ต่อการทำงานกลางแดดเป็นระยะเวลานาน ตำราของหมอพื้นบ้านและหมอแผนไทยจึงมีการใช้กระท่อมมานานแล้ว แต่ปัจจุบันไม่มีผู้ใดกล้านำมาใช้เพราะกระท่อมถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังนั้น องค์ความรู้จึงขาดหายจึงควรมีการรวบรวมองค์ความรู้ของหมดพื้นบ้านของการใช้กระท่อมในการบำบัดรักษาโรคเพื่อการใช้ประโยชน์จากกระท่อมเป็นยาในอนาคตต่อไป”นางปราณี กล่าว
นางปราณี กล่าวด้วยว่า จากผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานกับผู้ที่จะศึกษาถึงการบำบัดรักษาโรคของหมอพื้นบ้านด้วยกระท่อมด้วยวิธีการใช้แบบที่ไม่เสพติดและวิธีการป้องกันและรักษาผู้ติดกระท่อม เพื่อให้มีการต่อยอดในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ปัจจุบันยังไม่มีหารศึกษาทางคลินิกอย่างจริงจังเพื่อให้ความรู้เหล่านี้ได้ทุกนำมาใช้ประโยชน์ทางยาต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
update : 04-09-51