“กระทง”จากกะลามะพร้าว งานทำมือ รักษ์ภูมิท้องถิ่น
ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ส่วนใหญ่วัสดุที่นำมาทำ “กระทง” จะเป็นต้นกล้วยที่มีอายุสั้นซึ่งนั้นหมายถึงผู้ผลิตจะมีรายได้เพียงครั้งเดียว แต่ที่เมืองตาก ซึ่งสืบ ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ชาวบ้านที่นั่นมีรายได้จากการประดิษฐ์กระทงจาก “กะลามะพร้าว” ที่เพียงใส่ความคิดลงไปก็สามารถแปรเป็นเงินได้โดยไม่เลือกฤดูกาล
นางจรรย์จรี บุญเรือง ผอ.กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองตาก กล่าวว่า กองสวัสดิการสังคมได้มีแนวคิดส่งเสริมชุมชนสร้างอาชีพและสืบทอดภูมิปัญญาสู่เยาวชน หนึ่งในนั้นคือการทำกระทงจากกะลามะพร้าวใน โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ชุมชนเพื่อสัมมาชีพ 100 ตำบล 28 จังหวัด” โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสัมมาชีพและสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)เพื่อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชน
“เดิมชาวบ้านเอาเฉพาะส่วนเนื้อมะพร้าวมาแปรรูปเป็นเมนุอาหารต่างๆ ทว่าส่วนอื่น ๆ เช่น เปลือกหรือกะลาจะถูกทิ้งไป กระทั่งมีผู้เอากะลาไปใช้ลอยแทนกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคา กลายเป็นประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จนถึงทุกวันนี้ ต่อมาเมื่อช่วงเทศกาลลอยกระทงของทุกปี จะมีชาวบ้านผลิตกระทงกะลาขายนับหมื่น ๆ ใบให้นักท่องเที่ยว ซึ่งบางรายซื้อหาไปเป็นของที่ระลึก” ผอ.จรรย์จรี แจง
พร้อมระบุว่า นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้กองเข้าไปส่งเสริมอาชีพทำกระทงกะลามะพร้าว รวมทั้งส่งเสริมการออกแบบผลิตภัณฑ์ หาช่องทางจำหน่าย โดยเริ่มจากรวบรวมสมาชิก 16 ชุมชนในเขตเทศบาล ตั้งเป็น กลุ่มอาชีพประดิษฐ์กระทงกะลา ที่ลักษณะงานทำตัวแบบงานกะลง งานด้ายฟั่นเป็นรูปตีนกา งานฉลุ งานลงรักผิดทองเป็นต้น โดยทางกองจัดสรรงานให้ชุมชนแยกกันไปทำ จากนั้นจะมีกลุ่มรับผิดชอบตัวกระทงกะลาเข้าด้วย
“กระทงกะลาแต่ละชิ้นจะถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างสวยงาม ทั้งรูปแบบสีสัน ซึ่งนอกจากขายช่วงเทศกาลแล้ว ยังประยุกต์ด้วยการใช้เทียนหอมแทนเทียนธรรมดา จำหน่ายให้โรงแรม รีสอร์ท สปาที่นำไปตกแต่งประดับหรือใช้จุดเทียนหอมส่วนหนึ่งจำหน่ายให้ลูกค้าชาวต่างชาติที่ชื่นชอบงานฝีมือ”
ส่วนสนนราคา ผอ.จรรย์จรี บอกว่า ช่วงเทศกาลขายกันใบละ 30 บาท ขณะเดียวกันได้มีการส่งเสริมการขาย คือจัดเป็นชุดกระทงสาย 99 ชิ้น ราคา 500 บาท เพื่อนำไปลอยตามเลขมงคล ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมซื้อไปเป็นของที่ระลึกเพราะชื่นชอบในงานฝีมือ
ต่อมาเมื่อช่วงไม่มีเทศกาล ทางกองจะให้ชาวบ้านผลิตและนำไปวางจำหน่ายที่เทศบาลเมืองอีกทั้งจัดพื้นที่จำหน่ายในเทศกาลประจำปี เช่น งานตากสิน งานโอท็อป เทศกาลจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งจำหน่ายให้แก่โรงแรม ธุรกิจสปา โดยไม่ต้องรอให้ถึงเทศกาลลอยกระทง
ด้าน นายณรงค์ คงมาก หัวหน้าโครงการติดตามสนับสนุนและประเมินผลโครงการ กล่าวว่า ในส่วนกระทงที่ทำจากกะลานั้นน่าสนใจยิ่ง เป็นความกลมกลืนทางภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณีที่สร้างอสชีพ สร้างรายได้ วึ่งขระนี้ได้ส่งเสริมให้มีจำหน่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ตในรูป e-marketing โดยมีผลิตภัณฑ์ของโครงการ 4 ชนิด ได้แก่ กระทงสายกะลา จ.ตาก ข้าวฮ่าง จ.หนองบัวลำภู ผ้าย้อมคราม จ.อำนาจเจริญ และน้ำฟักข้าว จ.กาญจนบุรี พร้อมมีแผนจัดทำศูนย์จำหน่ายสินค้าในโครงการเพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายอีกทางด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย ธานี กุลแพทย์