กระตุ้นสังคมไทย ตระหนักเรื่องนมผง
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับตำบลนมแม่ เทศบาลตำบลท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ประกาศสัญญาประชาคม จับมือองค์กรภาคีเครือข่ายและภาคประชาสังคม เร่งผลักดัน "พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (CODE)" เพื่อปกป้องสิทธิ์ของเด็กทารกให้ได้รับนมแม่เพียงอย่าง เดียวอย่างน้อย 6 เดือน พร้อมกระตุ้นสังคมไทยให้ตระหนักและรู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดของนมผง
แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขา ธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการละเมิด CODE ของบริษัทผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ด้วยการทำการสื่อสารการตลาดในรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นอุปสรรคที่สำคัญของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบัน ด้วยอิทธิผลของการโฆษณาที่สร้างภาพและความเชื่อว่านมผงดีเทียบเท่านมแม่ โดยระบุว่ามีสารอาหารต่างๆ ครบถ้วน ทำให้แม่เกิดความเข้าใจผิด ตัดสินใจหันไปใช้นมผงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่มีอาหารอะไรที่มีคุณค่าและสามารถทดแทนนมแม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 12 ซึ่งน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดในกลุ่มประเทศอาเซียน
ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง ตัวแทนคณะผู้วิจัยจากโครงการการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่และผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก เปิดเผยว่า การวิจัยกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของบริษัท นมผงและการละเมิด CODE พบว่าอุตสาหกรรมนมผงได้ใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการโดยมีเครื่องมือการสื่อสารที่สำคัญ 7 ประการได้แก่ การโฆษณา การส่งเสริมการขาย พนักงานขาย การขายตรง การตลาดอินเทอร์เน็ต การแสดงสินค้า ณ จุดขาย และบรรจุภัณฑ์ โดยรูปแบบดังกล่าวล้วนแต่เป็นการละเมิด CODE ทั้งสิ้น มีผลให้แม่เชื่อและลังเลว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้วใช้นมผงร่วม หรือจะใช้นมผงอย่างเดียว แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ คือการใช้บุคลากรทางการแพทย์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารการ ตลาดในรูปแบบต่างๆ อาทิ การเป็นวิทยากร การแจกตัวอย่างนม หรือการใช้พื้นที่ของสถานพยาบาลแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของนมผง ดังนั้นเราจึงควรเร่งผลักดันให้ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
สำหรับ "พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้ผ่านการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขและภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการได้รับการรับรองจากภาคีเครือข่ายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2553 โดยคณะรัฐมนตรีได้รับรองมติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2554 และปัจจุบัน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอยู่ในระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบและประกาศเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ต่อไป
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนใน สังคมไทยจะต้องร่วมกันสนับสนุนและผลักดัน ให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ เพื่อปกป้อง เด็กทุกคนให้ได้รับโอกาสในการกินนมแม่ ควบ คู่กับการสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันในกลยุทธ์การตลาดของนมผง เพื่อปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก