กระตุ้นสังคมสร้าง ‘วัด’ สู่แรงบันดาลใจ
จากอดีต วัดคือองค์ความรู้ในทุกด้านของคนในชุมชนแต่ปัจจุบันคนห่างวัด เนื่องด้วยวิถีชิวิตที่แปรเปลี่ยนด้วยความเร่งรีบ การแข่งขันในการประกอบธุรกิจ และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้การเข้าวัดของพุทธศาสนิกชนเบาบางลงไปในทุกขณะ สถาบันอาศรมศิลป์จึงร่วมกับหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ และเหล่าภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการ "วัดบันดาลใจ" ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นำร่อง 9 วัดต้นแบบ โดยเปิดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเมื่อวันก่อนที่หอจดหมายพุทธทาสสวนรถไฟ
ประยงค์ โพธิ์ ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจ และประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันอาศรมศิลป์ เผยว่า ในอดีตวัดเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม แต่ด้วยบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันจึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการวัดบันดาลใจ เบื้องต้นได้นำร่องคัดเลือก 9 วัด จากทั่วประเทศ ได้แก่ วัดสุทธิวรารามกรุงเทพฯ,วัดนางชีโชติการามกรุงเทพฯ,วัดชลประทานรังสฤษดิ์นนทบุรี,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยพระนครศรีอยุธยา,วัดภูเขาทองพระนครอยุธยา,วัดพระสิงห์วรมหาวิหารเชียงใหม่,วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารนครพนม,วัดป่าโนนกุดหล่มศรีสะเกษ และวัดศรีทวีนครศรีธรรมราช มาเป็นวัดต้นแบบเพื่อเป็นกรณีศึกษา ในการส่งต่อองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายการทำงาน เชื่อมต่อระหว่างภาคประชาชนคนรุ่นใหม่และพระสงฆ์อย่างยั่งยืน
ด้าน นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า การร่วมมือกันในโครงการนี้ถือเป็นจุดหมุนสำคัญในการสร้างกระบวนทัศน์การพัฒนาสุขภาวะเมือง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่เพียงแต่นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะของเมืองผ่านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในวัดทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องทั้งพระสงฆ์ ชุมชนองค์กรท้องถิ่น สถาปนิกนักผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สาธารณะ
ในขณะที่ พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ กล่าวว่า เรารู้กันอยู่ว่าพระพุทธเจ้าทรงมอบศาสนาไว้เป็นพุทธบริษัทดังนั้นการสงฆ์อุบาสกอุบาสิกาแม่ชีต่างมีส่วนรวมในการบำรุงวัดบำรุงศาสนสถานไม่ใช่แป็นเพียงโยมอุปัฏฐากแล้วปล่อยเรื่องการบำรุงวัดเป็นเรื่องของสงฆ์เราต้องสร้างความตระหนักเราต้องคิดให้ได้ว่าจะสร้างวัดเพื่ออะไรถ้าคิดไม่ได้อย่าเอาอิฐหินปูนทรายมาทิ้งให้วัดและเมื่อสร้างวัดแล้วต้องเน้นเรื่องความประหยัดและสิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลยคือทุกสิ่งก่อสร้างทุกสิ่งที่อยู่ในวัดต้องสร้างปัญญาให้ปรากฏอย่างที่พูดกันว่าจะต่อยอดจากโครงการนี้จาก9วัดเป็น3หมื่น4หมื่นวัดเอาใหม่ให้จัดเป็นคอร์สอบรมพระสร้างวัดดีกว่าหรือไม่เพราะเมื่อพระรู้จักการสร้างที่ถูกต้องก็จะนำไปใช้กับวัดของตัวเองนั่นคือการสร้างประโยชน์ที่ตรงและไม่เป็นการใช้เงินฟุ่มเฟื่อยจัดคอร์สที่มหาจุฬาให้พระได้เรียนรู้เพราะเมื่อพระรู้แล้วลงมือทำเองก็จะไม่มีต้นทุน
ทั้งนี้โครงการนี้ถือเป็นการทำโครงการต่อเนื่อง3ปีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลใน 3 โอกาส คือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา ในปี 2560 และทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีในปี2559 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ในปี 2559 ซึ่งโครงการวันนี้มีแผนเดินหน้าส่งต่อองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างภาคประชาชนรุ่นใหม่กับพระสงฆ์อย่างยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบเพื่อพลิกฟื้นให้ทุกวัดเป็นวัดบันดาลใจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก