กระตุ้นชุมชนตื่นตัว เข้าใจ พรบ. ควบคุมยาสูบฯ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก
แม้การทำงานขับเคลื่อนงานรณรงค์เลิกบุหรี่ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขในไทยจะเลือกใช้มาตรการทางสังคม ซึ่งเปรียบเสมือน SoftPower ในการสร้างแรงจูงใจให้คนละทิ้งบุหรี่ในมือได้มากขึ้นแต่ขณะเดียวกัน สำหรับคนบางกลุ่มเองแค่เพียงมาตรการ "ไม้นวม" ก็อาจใช้ไม่ได้ผล ดังนั้น อีกมาตรการที่จำเป็น คือการใช้กระบวนแบบ "ไม้แข็ง" หรือการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษอย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย
ซึ่งหลังผ่านการประกาศใช้มาเกือบปี นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 อีกมาตการเพื่อลดตัวเลขสิงห์อมควันไทย หลายฝ่ายยอมรับว่าหลายบทลงโทษในกฎหมายใหม่นี้มี "ความหนักแน่น" ทั้งในตัวบทลงโทษและกลุ่มเป้าหมายมากกว่า พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา
กฎหมายดังกล่าวเป็นการยุบรวมของสอง พ.ร.บ. ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พระราชาบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เอาไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นที่รับทราบกันดีว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระที่มุ่งเน้นป้องกันสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หรือกลุ่มผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นหัวใจสำคัญ
ในเวทีงานปฏิบัติการ "เลิกสูบ ก็เจอสุข" 5 วิถีปลอดบุหรี่โดยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 2 พันแห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 105 แห่ง ภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์สนับสนุนวิชาการเฉพาะประเด็นการควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศวฉ.ยาสูบ) สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน 3 (สำนัก3) สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาร่วมกันออกแบบการรณรงค์และขับเคลื่อนกิจกรรม หนึ่งในนั้นยังมี เรื่องของ "พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ" เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึง
ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. เอ่ยว่า กฎหมายคืออันดับแรกที่ชุมชนควรจะมีความเข้าใจและรับทราบเพราะบทลงโทษล่าสุดค่อนข้างรุนแรง แต่ที่ผ่านมาคนไทยมักไม่ค่อยใส่ใจในประเด็นนี้ ซึ่งชุมชนจะต้องช่วยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เกี่ยวกับข้อกำหนดกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ชัดเจน
ด้าน ปรีชา คุณแสน รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สาย อำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ เอ่ยถึง สถานการณ์จริงจากพื้นที่หลังประเทศไทยมี พ.ร.บ.ใหม่มาเกือบปี แต่กลับยังมีคนมากมายกลับไม่ตื่นตัว
"จากที่เราสำรวจลงไป จะพบว่าประชาชนยังไม่ค่อยให้ความสนใจและเข้าใจ กฎหมาย พ.ร.บ.ฉบับล่าสุดดังกล่าวเท่าไหร่ ทั้งที่ความจริงแล้ว เนื้อหาสาระไม่ได้มีความยากหรือซับซ้อนมากมายเลย ซึ่งจุดเด่นของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับ 2560 นี้จะเป็นกรอบให้เราดำเนินการอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น"
เขายอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้ มีหลายมาตรการที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ซึ่งตัวประชาชนต้องรับทราบและปฏิบัติตามกำหนดข้อบังคับ ไม่ว่าจะเป็น ตั้งแต่ในด้านคำนิยามของ "ยาสูบ" ที่อดีตไม่ได้มีการหมายรวมผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทอื่น อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า บารากุ แต่ใน พ.ร.บ.นี้จะมีการรวมเข้าไปด้วย
"แต่กฎหมายฉบับนี้ได้ให้คำนิยามว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบคือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยาสูบ หรือ สารนิโคติน โดยมีการนำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดๆ ทั้งการกิน สูบ ดม เป่า เคี้ยว ทา พ่น อยู่ในกรอบนี้หมด"
รวมไปถึงมาตรการ "การจัดพื้นที่ปลอดบุหรี่" หรือพื้นที่ห้ามสูบ 3 ประเภท ได้แก่ 1.การห้ามสูบในสถานที่ทำงาน ที่กฎหมายได้ตีความรวมทั้งสถานที่ราชการและหน่วยงานเอกชน หาก สถานที่ใดมีผู้ที่อยู่ในที่เดียวกันและรวมตัวกัน ให้อยู่ในขอบข่ายสถานที่ทำงานปลอดบุหรี่ 2.การห้ามสูบในสถานที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร วัด โรงเรียน โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข และ 3.การห้ามสูบบนยานพาหนะ ทั้งในระบบขนส่งสาธารณะ ขนส่งมวลชน แม้แต่จักรยานยนต์ ก็ถูกจัดเป็นเขตพื้นที่สูบบุหรี่เช่นกันหมด
"สาเหตุที่มีการจำกัดพื้นที่เหล่านี้ เพราะกฎหมายนี้ต้องการคุ้มครองผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หรือกลุ่มผู้รับควันบุหรี่มือสอง ที่อาจได้รับผลกระทบ และเป็นการจำกัดการขยายพื้นที่ของควันให้อยู่ในวงจำกัด" ปรีชาไขความกระจ่าง
แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจของกฎหมายฉบับ ดังกล่าวที่สำคัญคือ มีการเพิ่มอัตราการปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืน และการจำกัดอายุของการขายบุหรี่ให้กับเยาวชน โดยจากเดิมที่ห้ามขายในเยาวชนอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ได้ขยายเป็นต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป รวมทั้งผู้จำหน่ายเอง ก็จะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถเป็นผู้จำหน่ายบุหรี่ได้
"ดังนั้นถ้าคุณมีร้านขายของชำที่บ้านและ ขายบุหรี่ มีลูกหลานในบ้านอายุไม่ถึง 18 แล้วเป็นคนไปหยิบบุหรี่นั้นขายให้แก่ใครก็ตาม ถ้ามีผู้พบเห็นแล้วนำไปแจ้ง คุณเองในฐานะผู้จำหน่ายต้องมี ความผิด สำหรับในเรื่องอัตราการปรับ กรณีที่คุณเห็นป้ายห้ามสูบแล้วฝ่าฝืน พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้เพิ่มโทษปรับจาก 2,000 บาท เป็น 5,000 บาท นอกจากนี้ ยังไม่รวมการกำหนดโทษเจ้าของพื้นที่ที่ไม่จัดทำป้ายระบุพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ชัดเจน อาทิ สถานประกอบการ ตลาด สถานที่สาธารณะก็จะโดนปรับ ด้วยนะ ไม่ใช่แค่ 5,000 แต่เป็น 50,000 บาททีเดียว"
อีกทั้ง พ.ร.บ. มีกำหนดเพิ่มเติมให้มีการ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องปราบ ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินการตามหลักของการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในพื้นที่โดยเฉพาะกรณีผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วย
"สิ่งที่ชุมชนต้องทำอันดับแรก คือการกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ ซึ่งประเด็นนี้ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ในท้องถิ่นควรให้ความรู้ที่อัพเดทแก่ประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโทษปรับที่เพิ่มขึ้น อายุของเยาวชนผู้ซื้อและผู้ขายข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะต้องดำเนินการ" วงวรรณ เทพอาจ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข กองงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ช่วยเสริม
เธอกล่าวว่า หากจัดลำดับบุคคลที่ควรได้รับข้อมูลนั้น กลุ่มแรกคือ ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ อสม. และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานรณรงค์เลิกบุหรี่ ทุกส่วนในพื้นที่ ส่วนกลุ่มสองคือ สถานประกอบการ ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร หน่วยงานราชการทุกแห่ง และเครือข่าย ส่วนที่สาม ที่จำเป็นต้องให้ความรู้ คือผู้บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เอง ก็จำเป็นต้องรู้ข้อกฎหมายมากกว่าคนอื่น
"ถามว่าทำไมเขาต้องรู้ ก็เพราะเวลาประกาศบังคับใช้กฎหมายก็จะทำได้ง่ายขึ้น เพราะ ประชาชนจะต้องรู้สิทธิตัวเองว่าที่ไหนสูบได้ ไม่ได้ ทำอะไรที่ฝ่าฝืนหรือผิดกฎหมาย ซึ่งสำหรับวิธีการแจ้งให้ประชาชนรับทราบนั้น อย่าไปแยกส่วนทำงาน โดยจัดประชุมแจ้งเรื่องบุหรี่ เพราะเขาจะไม่มาและเสียเวลา แต่เราสามารถใช้ในการประชุมต่างๆ หรืองานประจำที่ทำอยู่แล้ว อย่างประชุมประชาคม กิจกรรมฝึกอบรมต่างๆสามารถสอดแทรกข้อมูลเรื่อง พ.ร.บ. ได้หมด" เธอเอ่ยแนะนำ
วงวรรณยังเผยเคล็ดลับการทำงานในพื้นที่จากประสบการณ์ให้ฟังว่า การทำงานรณรงค์ในพื้นที่ ถ้างานไหนทำได้ก่อนก็เริ่มเลย แต่ถ้าอันไหน ยากเกินไป ก็เก็บไว้ก่อน ค่อยๆ ทำไปอย่าท้อ
"อาจเริ่มจากการติดสติ๊กเกอร์หรือป้ายพื้นที่ห้ามสูบเป็นงานแรก เพราะสามารถทำได้ทันที ซึ่งหากชุมชนไหนอยากได้สติกเกอร์หรือสื่อรณรงค์แบบไหน แต่ไม่อยากลงทุน ก็สามารถติดต่อขอได้กับทาง สสส.เลย แจ้งรายละเอียดผ่านเว็บไซต์เท่านั้นเขาจะจัดส่งให้ถึงบ้าน" เธอเอ่ยทิ้งท้าย