กระจายความรู้ สู่โครงการ เลิกเหล้า เข้าพรรษา

เทศกาลเข้าพรรษาผ่านมาอีกครั้งในปีนี้ และจากความสำเร็จในการทำงานของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้สโลแกนและหลักคิดภายใต้คำขวัญ “งดเหล้า เข้าพรรษา” แทรกซึมเข้าไปอยู่ในความคิดของคนไทยทั่วประเทศ

สังเกตได้จากอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับที่ลดลง และการสนับสนุนการทำงานภายใต้กรอบของโครงการนี้ อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ของทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้น จากกิจกรรม “งดเหล้า เข้าพรรษา” พุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่เอาชนะใจตนเองได้ เลิกเหล้าและเริ่มเห็นข้อดีจากการไม่ดื่มสุรา ทำให้พวกเขาพยายามที่จะปฏิบัติต่อจนเลิกเหล้าได้สำเร็จ ซึ่งนำมาด้วยความสุขไม่เพียงแต่เฉพาะร่างกายของตนเองในด้านสุขภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ผลของการเลิกเหล้ายังทำให้คนรอบข้าง คนในครอบครัวสบายใจ ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สำคัญสามารถช่วยลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวลงได้มาก

แต่แม้กระนั้นเราก็ต้องยอมรับความจริงว่า ปัญหาการดื่มเหล้ายังคงไม่หมดไปจากสังคมไทย และยังคงต้องประสานความร่วมมือกันทำงานระหว่างองค์กรรัฐ เอกชน และหน่วยงานจิตอาสา เพื่อช่วยเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า รายงานของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ในปี 2556 พบว่า ในปัจจุบันนักดื่มเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 5 เท่า แต่ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงอยู่ที่การค้นพบ ว่ากลุ่มเยาวชน อายุระหว่าง 15-24 ปีนั้นดื่มสุราเกือบ 2.5 ล้านคน คิดเป็น 15% ของนักดื่มทั้งหมด โดยเฉลี่ยผู้ชายเริ่มดื่มเมื่ออายุ 19 ปี ผู้หญิงเฉลี่ย 24 ปี โดยคนรุ่นหลังเริ่มดื่มเร็วกว่าคนรุ่นเก่า

“ปัจจุบันพบว่ามีผู้ดื่มสุราเป็นประจำ 7.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 20% หรือประมาณ 2 ล้านคน อยู่ในขั้นติดเหล้าต้องดื่มทุกวัน หรือเกือบทุกวัน โดยปริมาณการดื่มเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 37 ลิตรต่อคนปี ในปี 2540 เป็น 52 ลิตร ในปี 2554”

นพ.สมาน บอกว่า สุรายังคงเป็นสินค้าที่หาซื้อง่ายตามร้านขายของชำทั่วไป และยังมีประชากรในบางกลุ่มอาชีพที่นิยม ดื่มสุราเพื่อความผ่อนคลาย อย่างเช่น คนงานก่อสร้าง เกษตรกร และชาวประมง ในขณะที่ประชากรภาคเหนือมีอัตราการดื่มสูงที่สุดในประเทศ เฉลี่ย 39% รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37% ภาคกลาง 28% กทม. 23% และภาคใต้ 19% ส่วนจังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุด 3 อันดับ คือ พะเยา แพร่ เชียงราย

จากผลสำรวจดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้ในภาพใหญ่การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาจะได้ผลดี และคนส่วนใหญ่ตระหนักรู้ แต่ทุกฝ่ายยังคงต้องใส่ความพยายามต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องใช้เทคนิค และวิธีในการให้ความรู้ จูงใจ และสร้างแรงบันดาลใจในการเลิกเหล้าให้กับคนอีกจำนวนไม่น้อยในสังคมบ้านเรา

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติเสนอ ด้วยการงดเว้นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ดีซึ่งอาจนำไปสู่การเลิกเหล้าของใครหลายๆ คนได้

นอกจากนั้น สสส. ยังต้องการสร้างแรงบันดาลใจคลิปสั้นๆ ด้วยการเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ “งดเหล้า เข้าพรรษา ชีวิตใหม่ เพื่อตนเองและครอบครัว” โดยเน้นแนวคิดหรือวิธีในการลดละเลิกรวมถึงผลที่เกิดขึ้นต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง โดยไม่จำกัดเทคนิคในการนำเสนอ ความยาวไม่เกิน 2 นาที โดยใช้วิธีอัพโหลดคลิปมาที่ fan page facebook “เครือข่าย งดเหล้า” ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ก.ค. 2556 นี่คืออีกหนึ่งโครงการดีๆ สำหรับกิจกรรม “เลิกเหล้า เข้าพรรษา” สำหรับปี 2556 นี้เอง

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code