กระจกเงา คว่ำ ร่างพรบ. ขอทาน ปี 51

พม. เห็นด้วย ต้องเปลี่ยนใหม่

 

 

กระจกเงา คว่ำ ร่างพรบ. ขอทาน ปี 51ศูนย์ปฏิบัติการฯ เสนอ 8 หลักการ แก้ปัญหาขอทาน ศุกร์ 3 ตุลา นี้ นัดคุยผู้เกี่ยวข้องตัวจริง หาทางออก

 

            มูลนิธิกระจกเงา เตรียม คว่ำ ร่าง พรบ.ขอทาน ฉบับใหม่ คนพิการ,วณิพก ชี้พม. ต้องมองใหม่ ย้ำ นี่เป็นกฏหมายที่ยังไม่ดีพอ เสนอให้ฝ่ายเกี่ยวข้องจริงออกมาดูแล ฝ่ายนิติการ พม.ชี้ นี่ยังไม่สรุป ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และดีกว่านี้แน่นอน มูลนิธิกระจกเงาเตรียมนัดตัวจริงคุยหาทางออก 3 ตุลานี้

 

            เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่าน ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้เปิดการเสาวนาทางวิชาการ เรื่อง ฟังความรอบด้านกับร่าง พรบ.ขอทานฉบับใหม่ณ ห้องประชุม 101 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สะพานหัวช้าง ซึ่งภายในงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคฝ่าย ได้แก่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย และองค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ จังหวัดสุรินทรฺ เสนอความคิดเห็น พร้อมเสนอทางออกกับ พรบ.ขอทาน ฉบับนี้

 

            คุณสุเทพ โชคบุญธิยานนท์ หัวหน้ากลุ่มนิติการ กรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ กล่าวว่า ร่างพรบ.ขอทานตัวล่าสุดนี้ เป็นการที่ให้ผู้ที่สมัครใจที่จะเป็นขอทาน ทำการมาจดแจ้ง เพื่อทำใบรับอนุญาตในการขอทาน เพื่อให้ควบคุมขอทานได้ ในการรู้จำนวนที่แท้จริง แต่หลังจากได้รับฟังแล้ว พรบ.ตัวนี้ ต้องไม่ใช่รูปแบบนี้แน่นอน ประเด็นที่ทางพม.ต้องการคือ ไม่อยากให้มีขอทาน และทุกคนสามารถช่วยตัวเองได้ ถ้าผู้ใดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทางรัฐเข้าไปดูแลเรื่องสวัสดิการเอง

 

            คุณวิวรรธน์ พุทธานุ ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ กล่าวถึงปัญหาขอทาน ว่า ด้วยตำบลกระโพ ถือว่าเป็นตำบลที่มีคนมาขอทานเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่เป็นค่านิยมของคนในชุมชนว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ผิด และมีรายได้มาก จึงมีคนจำนวนมากเป็นขอทาน การที่ออกพรบ.ขอทาน เกณฑ์ตามมาตรา 8 (ตามเอกสารที่แนบมา) มันใช้ไม่ได้จริง เพราะเราไม่สามารถรู้ข้อเท็จจริงของคนที่ต้องการมาเป็นขอทานได้ และยากที่จะควบคุม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาพื้นที่จริง พร้อมกับช่วยเหลือผู้ที่ยากจนจริงๆมากกว่า

 

            ด้านคุณณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ ประธาน มูลนิธิคนพิการไทย กล่าวว่า ถ้าพรบ.ขอทานฉบับนี้ออกมาจริงๆ ภาพที่เห็นคือ รัฐบาลส่งเสริมให้มีการขอทาน อย่างถูกกฏหมาย นี่เป็นอาชีพที่ง่าย รายได้ดี จนกลายเป็นค่านิยม ถ้ามองกันเรื่องแผนพัฒนาคนพิการ ที่รัฐฯ เน้นให้มีงานทำ คนที่ป่วยก็จะมีค่าตอบแทน ซึ่งที่ได้อยู่นั้น มันน้อยเกินกว่าจะครองชีพได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ทำไมรัฐไม่เข้ามาดูแลอย่างถูกจุด และผมรู้สึกไม่เป็น เกียรติเลย ที่ได้สิทธิในการเป็นขอทาน เพราะความพิการ อยากให้พรบ.ฉบับนี้ ตัดคำว่าขอทานทุกคำออกไป

 

            และคุณเอกลักษณ์ หลุ่มชุมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ กระจกเงา กล่าถึงสรุปข้อเสนอในพรบ.ขอทานฉบับนี้ ว่า ประชาคมส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ จากพรบ.ฉบับนี้ ไม่เห็นด้วยกับร่างพรบ.ควบคุมคนขอทานฉบับใหม่ ซึ่งทางศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา และภาคีเครือข่ายจะ ได้ทำร่างพรบขอทาน.ฉบับคู่ขนานออกมา และเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร ในการเปรียบเทียบกับพรบ.ที่ทางพม.ออก เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทางศูนย์ฯได้มีข้อเสนอ 8 ข้อในทางแก้ไขกรอบของกฏหมาย ได้แก่ 1.ต้องลดขนาดของปัญหา 2.ควบคุมกลุ่มขอทานเดิมได้, 3.ตัดวงจรการค้ามนุษย์, 4.การคุ้มครองเด็กในครอบครัวขอทาน, 5.โทษสำหรับขบวนการที่นำคนมาขอทาน, 6.การจัดระบบสงเคราะห์, 7.แยกวณิพกออกจากการขอทาน และ 8.มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหาขอทาน ตาม พ.ร.บ. และในวันที่ 3 ตุลานี้ ทางศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา และผู้เกี่ยวข้อง จะจัดประชุมย่อย เพื่อทำข้อสรุปในพรบ.ฉบับ พร้อมแถลงการณ์คัดค้าน พรบ.ขอทานฉบับนี้ต่อไป

 

 

 

 

 

 

ที่มา : มูลนิธิกระจกเงา

 

 

 

 

update 02-10-51

Shares:
QR Code :
QR Code