กรมอนามัย เดินหน้าป้องกัน-แก้ไข ท้องในวัยรุ่น
ที่มา : กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย เผย ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และคณะทำงานตามยุทธศาสตร์ฯ ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งนี้ ยังเป็นการประชุมคณะทำงานตามยุทธศาสตร์ ทั้ง 5 คณะที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เพื่อนำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ผ่านมา ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการพัฒนาการสื่อ ให้ความรู้ ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น พัฒนาแกนนำวัยรุ่น ส่งเสริมการเข้าถึงบริการคุมกำเนิด พัฒนาระบบการให้บริการด้วยยาในระบบบริการสุขภาพ สนับสนุนจัดทำฐานข้อมูล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พัฒนาคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่สื่อสารรณรงค์การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพื่อสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมสัมพันธภาพครอบครัว และให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้พัฒนาหลักสูตร E-Training เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ การดำเนินงานขับเคลื่อนการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา ด้วยการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยระบบการฝึกอบรมแบบ e-Training (UTQ online) ในโรงเรียนประถมศึกษา
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กระทรวงแรงงาน ได้สร้างการรับรู้และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มลูกจ้างวัยรุ่น การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และจัดสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต กระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตแก่วัยรุ่น ส่งต่อให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และคลอดได้รับการดูแลทั้งแม่และลูก คุ้มครองและติดตามหลังการช่วยเหลือ และกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ ประชุมอนุกรรมการฯ ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพและการป้องกันโรคและคุมกำเนิด และโครงการประกวดคลิปวิดีโอ "หนัง (มัน) สั้น แต่รักฉันยาว : การป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่วัยรุ่นในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งดำเนินการโดยหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
"นอกจากนี้ กรมอนามัย ได้จัดทำแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน ส่วนกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้จัดระบบคุ้มครองเด็กในระดับตำบลเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน สร้างกลไกขับเคลื่อนงานในพื้นที่ พร้อมทำฐานข้อมูลแม่วัยรุ่นยากจนที่ลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด จัดสวัสดิการสังคมที่จำเป็นและเหมาะสมกับแม่วัยรุ่น รวมถึงติดตามประเมินพัฒนาการบุตรของแม่วัยรุ่นเป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ การจัดทำเว็บไซต์กลาง http://teenact.moph.go.th อยู่ในการบรรจุเนื้อหาสาระให้มีความน่าสนใจและเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันของภาคีเครือข่ายการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด