กรมอนามัยเตือนเล่นดอกไม้ไฟไม่ระวังเสี่ยงหูตึง
กรมอนามัย เตือนกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน เล่นดอกไม้ไฟไม่ระมัดระวัง เสี่ยงเกิดอาการหูตึง เหตุดอกไม้ไฟบางชนิดมีระดับเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล เอ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน ทำให้หูตึงชั่วคราว แต่ถ้าได้รับบ่อยอาจหูตึงถาวรได้
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงอันตรายจากการเล่นดอกไม้ไฟ ว่า ในปีที่ผ่านๆ มา ถึงแม้บางหน่วยงานจะมีมาตรการควบคุมการเล่นดอกไม้ไฟออกมาบังคับใช้ แต่ก็มีข่าวการได้รับบาดเจ็บแทบทุกปี เพราะยังมีประชาชนบางกลุ่มที่เล่นดอกไม้ไฟโดยไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่คึกคะนอง ชอบเล่นผาดโผน เล่นไม่ถูกวิธี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่อภัยของดอกไม้ไฟ ทั้งเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายแก่ร่างกายและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เพราะดอกไม้ไฟประกอบด้วยสารเคมีถึง 18 ชนิด โดยสารเคมีที่ใช้เป็นตัวเติมออกซิเจนเพื่อช่วยในการเผาไหม้ เช่น สารประกอบไนเตรท คลอเรต โพแทสเซียม แบเรียม สารเคมีที่ใช้เป็นตัวเร่งและควบคุมความเร็วในการเผาไหม้ให้เกิดความร้อน เช่น ผงกำมะถัน แมกนีเซียม สังกะสี สารเคมีที่ทำให้ประกายไฟของดอกไม้ไฟเป็นสีต่างๆ และสารเคมีที่ช่วยในการเกาะตัวทำให้เกิดเป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น แป้งและเชลแล็ก เป็นต้น
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวด้วยว่า สารเคมีเหล่านี้จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้หากมีการสัมผัสโดยตรงบริเวณผิวหนัง หรือสูดดมเอาสารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลว ผง ไอระเหย และควันพิษ เข้าสู่ร่างกายก่อให้เกิดอันตรายตามแต่ละชนิดของสารเคมี เช่น สารประกอบแบเรียม ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหู ตา คอ จมูก และผิวหนัง เกิดโรคลำไส้อักเสบ กล้ามเนื้อเกร็ง ชีพจรเต้นช้า สารตะกั่วและทองแดงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เกิดแผลที่โพรงจมูกได้
นอกจากนี้ ดอกไม้ไฟที่มีเสียงดังมากๆ ยังส่งผลกระทบต่อการได้ยิน เพราะดอกไม้ไฟชนิดที่ก่อให้เกิดเสียงดังทุกชนิด จะมีระดับเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล เอ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือ 85 เดซิเบล เอ จะทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว และถ้าได้รับในช่วงเวลายาวนานจะทำให้หูตึงถาวรได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิต หรือส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้หงุดหงิด นอนไม่หลับ สำหรับไฟเย็นจะมีความร้อนที่อุณหภูมิ 649-983 องศาเซลเซียส สามารถทำให้ผิวหนังไหม้ หรือตาบอดได้หากขาดความระมัดระวังที่ดี
“การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต้องระวังไม่ให้ดอกไม้ไฟได้รับความร้อน หรืออยู่ใกล้แหล่งที่ก่อเกิดประกายไฟ จึงควรงดเล่นดอกไม้ไฟโดยเด็ดขาด ไม่ควรเห็นแก่ความสนุกชั่วครั้งชั่วคราว ควรหันมาให้ความร่วมมือกับทางราชการที่กำหนดให้มีมาตรการคุมเข้มในเรื่องการเล่นดอกไม้ไฟอย่างจริงจัง ซึ่งหากสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการสืบสานประเพณีการลอย กระทงที่ดีงามของไทยแล้ว ยังช่วยลดอุบัติเหตุและโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการเล่นดอกไม้ไฟอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ