กรมสุขภาพจิต แนะสร้าง 4 วัคซีนใจสู้โควิด-19
ที่มา : เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์
แฟ้มภาพ
เนื่องจากเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว ที่โควิด-19 ได้แพร่ระบาดและความเครียดของประชาชนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ได้ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ในงานแชริตี้อีเวนต์ออนไลน์ “พลังใจ พลังฮีโร่ สู้โควิด-19” เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อตอบข้อสงสัยเรื่องโควิด-19 โดยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้มีกำลังใจต่อสู้กับโควิด-19
โดย “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพจิต โดยชู วัคซีนใจ เป็นแนวทางปฏิบัติให้กับครอบครัว ชุมชน ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน จัดระบบเข้ามาช่วยกันส่งเสริม เพิ่มศักยภาพ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันทางใจที่จะสามารถป้องกันปัญหา วิกฤตต่างๆ รวมทั้งปัญหาโควิด-19 ได้
โดยพื้นฐานของวัคซีนใจจะทำให้ ชุมชน ครอบครัว เข้มแข็งขึ้นได้นั้นมีหลักอยู่ 4 อย่าง
1. ความสงบร่มเย็น (Calm)
อย่างที่เคยรณรงค์ว่า ตระหนักไม่ตระหนก ตระหนัก คือ มีสติ ถ้าตระหนก คือ ขาดสติ ถ้าตระหนักก็จะมีความรู้ในการดูแล ถ้าครอบครัวจะต้องมีความสงบสุข Keep clam ได้ การ Keep clam คือ ครอบครัวที่รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แบ่งปันข้อมูล สามารถให้ความรู้กับคนในบ้านได้
2. ความปลอดภัยในครอบครัว (Save)
ครอบครัวจะต้องทำให้เกิดความปลอดภัยในครอบครัว จัดสร้างระบบ เช่น ไม่เอาไวรัสเข้าบ้าน เพราะการติดไวรัสโควิด-19 ระยะหลังพบว่า ติดไวรัสที่บ้านมากถึง 40% จึงต้องมีระบบ มีการแบ่งส่วนสะอาดในบ้าน โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ ต้องมีการทำความสะอาด ตั้งแต่จะเข้าบ้าน ทำความสะอาดมือ ถอดรองเท้าไว้ข้างนอก ไปไหนมีเสื้อคลุมสักตัวหนึ่ง แล้วถอดตัวข้างนอกออกไปซัก ใส่เสื้อตัวในเดินเข้าบ้าน เข้าบ้านไปอาบน้ำก่อน การใส่หน้ากากป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้เราติดเชื้อเข้าไปในบ้าน เป็นต้น
3. มีความหวัง (Hope)
คือครอบครัวที่ดี ที่จะเจริญ ที่จะมีศักยภาพที่สูง ต้องเป็นครอบครัวที่มีความหวัง ถ้าครอบครัวสิ้นหวัง ไม่ให้ความหวังซึ่งกันและกัน ครอบครัวก็ไม่สามารถที่จะต่อสู้ ฉะนั้นครอบครัวต้องมีความหวังว่า ‘เดี๋ยวไม่เป็นไร รัฐบาลเรามี ประเทศไทยเรามีการควบคุมโรคที่ดี เรามีญาติพี่น้อง เรายังมีใครคอยช่วยเหลือดูแลเราได้ เดี๋ยวระหว่างนี้เราออกไปไหนไม่ได้ เราก็มาวางแผนหรือข้อกำหนดที่จะทำอะไรในเมื่อมีโอกาส’ เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลาย มาตรการผ่อนปรน จะไปทำอะไรบ้าง ลำดับ 1 2 3 ตอนนี้ครอบครัวเข้มแข็ง ต้องสร้างโอกาส สร้างความหวัง สร้างโอกาสให้ได้
4. การติดต่อเชื่อมโยง (Connectedness)
การติดต่อเชื่อมโยงของคนในครอบครัวหรือชุมชนและชุมชนเข้มแข็ง ถามไถ่ซึ่งกันและกัน ใครเป็นอะไรมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดูแลตั้งแต่เฝ้าระวังป้องกัน ช่วยเหลือดูแลลยามเจ็บป่วย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน
“4 อย่างนี้เป็นหลักของการคิด เป็นวัคซีนใจที่ฉีดเข้าไปในครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง และจะดูแลปัญหาสุขภาพจิต ถ้าสมมติดูแลไม่ไหว รับฟังแล้วรู้สึกยากมาก ก็สามารถส่งต่อให้กับหน่วยงานที่ดูแลได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ในกรณีที่ต้องการจะประเมินสุขภาพจิต สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต หรือ แอปพลิเคชัน Mental Health Check up หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ช่องทางเหล่านี้จะช่วยประเมินภาวะสุขภาพจิตในขั้นต้นได้