กรมสุขภาพจิต เผยมาตรการเฝ้าระวังการทำร้ายตนเอง

ที่มา : ผู้จัดการ ออนไลน์


กรมสุขภาพจิต ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังการทำร้ายตนเอง thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมสุขภาพจิต เผยฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายก่อนวัยของคนไทยมากสุดอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ มีผู้พยายามทำร้ายตัวเองปีละ 5.3 หมื่นคน ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 4,000 ราย เป็นผู้ชายมากกว่าหญิง 4 เท่า ส่วนปี 61 วัยทำงาน-ผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสำเร็จสูง


นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังการเข้าร่วมประชุมทางไกลวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ในเขตสุขภาพทั่วประเทศ ว่า กรมสุขภาพจิตได้นำเสนอมาตรการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายในเขตสุขภาพให้กับผู้ที่เข้าร่วมประชุมทางไกลซึ่งเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพทั่วประเทศ เนื่องจากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายค่อนข้างถี่ และหลายกรณีเป็นการพยายามทำร้ายตนเองด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกัน โดยจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควรที่สูงเป็นอันดับสองของคนไทย รองจากอุบัติเหตุ และสูงกว่าการทำร้ายกันตายเกือบสี่เท่า ในแต่ละปีมีการประมาณการว่า จะมีผู้พยายามทำร้ายตัวเอง ราวปีละ 53,000 คน และมีคนไทยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ปีละประมาณ 4,000 คน เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงในวัยทำงานและวัยสูงอายุ


นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต จึงเร่งดำเนินการสื่อสารกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และยกระดับมาตรการในการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย การค้นหากลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกาย ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา/สารเสพติด โรคทางจิตเวช ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท และผู้ที่เคยมีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน และดำเนินการคัดกรองความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายด้วยแบบประเมินการฆ่าตัวตาย 8Q หากประเมินพบค่าคะแนนมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายในปัจจุบันระดับปานกลางถึงรุนแรง ให้ดำเนินการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาอย่างน้อย 24-72 ชั่วโมง หรือส่งต่อเพื่อพบผู้เชี่ยวชาญ หากเป็นไปได้ในกรณีของคนรอบข้างผู้มีความเสี่ยงให้ดำเนินการโดยใช้หลักการปฐมพยาบาลทางจิตใจ (3 ส Plus) ได้แก่ 1. สอดส่องมองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แยกตนเองออกจากสังคม 2. ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ 3. ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แอปพลิเคชั่น Sabaijai หรือแนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุข 4. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสังเกตสัญญาณเตือน แหล่งช่วยเหลือในชุมชน และ 5. ช่วยให้เข้าถึงบริการ เช่น ช่วยเหลือพาไปส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน เป็นต้น


นอกจากนี้ การฆ่าตัวตายยังถือเป็นพฤติกรรมรุนแรงอย่างหนึ่งที่สามารถลอกเลียนแบบได้ ดังนั้น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชน ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจเกิดผลกระทบกับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตนเองอยู่แล้ว หรือผู้ที่กำลังมีความเปราะบางทางจิตใจอยู่ กรมสุขภาพจิตจึงได้กำหนดจัดให้มีการสัมมนาสื่อมวลชนขึ้น ในวันที่ 27 มีนาคม ที่จะถึงนี้ เพื่อสื่อสารถึงช่องทางวิธีการที่สื่อมวลชนจะให้คำแนะนำแก่ประชาชน ตลอดจนข้อควรระวังและข้อพึงกระทำในการนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเลียนแบบพฤติกรรมฆ่าตัวตาย (Copycat Suicide) ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมสุขภาพจิตย้ำเตือนสังคมมาโดยตลอด โดยในการสัมมนาครั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการป้องกัน การฆ่าตัวตายจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code