กรมสุขภาพจิต เตือน ระวังโรคติดพนันบอล ย้ำ ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

กรมสุขภาพจิต เตือน ระวังโรคติดพนันบอล ย้ำ ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

กรมสุขภาพจิต เตือน ระวังโรคติดพนันบอล ย้ำ ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตและคณะผู้บริหารกรมสุขภาพจิต ร่วมแถลงข่าว เนื่องในเทศกาลแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ว่า การแข่งขันฟุตบอลครั้งสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลโลก หรือฟุตบอลยูโร ถือเป็นฤดูกาลแข่งขันที่แฟนๆ ฟุตบอลทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และเฝ้าเชียร์ ซึ่งจะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำและน่าเป็นห่วง คือ ปัญหาการพนัน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพระหว่างบุคคล เกิดการขัดแย้งและการทะเลาะวิวาทขึ้นได้ นอกจากนี้ การพนันยังสัมพันธ์กับธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ รวมถึงอาชญากรรมและยาเสพติด ทั้งนี้ จากการสำรวจของกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่สนใจกีฬาฟุตบอล จำนวน 1,133 ตัวอย่าง เรื่อง”คอบอลไทยกับการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012″ กรณีการเล่นการพนันฟุตบอล พบว่า ร้อยละ 27.5 ระบุคิดว่าจะเล่นพนัน โดยกลุ่มที่ระบุจะเล่นการพนันฟุตบอล เป็นผู้ที่มีอายุ 15-25 ปี มากสุด ร้อยละ 10.1, อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 8.9, อายุ 36-46 ปี ร้อยละ 5.6 และอายุ 46 ปีขึ้นไป ร้อยละ 2.9 สำหรับจำนวนเงินที่คาดว่าจะเล่นพนันแต่ละครั้งพบว่า มากสุดร้อยละ 32.2 ระบุจำนวน 101-500 บาท รองลงไปร้อยละ 22.1 จำนวน 51-100 บาท และร้อยละ 14.8 จำนวน ไม่เกิน 50 บาท ซึ่งถือเป็นปัญหาที่น่าห่วงและอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรค “ติดพนัน (pathological gambling)” ทั้งผู้ที่เป็นนักพนันอยู่แล้วหรือผู้ที่กำลังจะเป็นนักพนันหน้าใหม่

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า โรคติดการพนัน ( pathological gambling) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถต่อต้านแรงกระตุ้นหรือความอยากของตนเอง จะหมกมุ่นเหมือนกับผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำ ผู้ป่วยติดสุราหรือสารเสพติด ซึ่งกลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกติของสมองเหล่านี้จะคล้ายกัน คือ สมองส่วนอยากทำงานเหนือสมองส่วนคิด ผู้ที่ติดการพนันจะควบคุมแรงกระตุ้นที่อยากจะเล่นการพนันไม่ได้ จนส่งผลเสียต่อชีวิตในด้านต่างๆ

สาเหตุสำคัญของโรคติดการพนัน มี 4 ประการ คือ 1. พันธุกรรม จากการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยที่ติดการพนันมักมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมด้วย 2. สังคม สิ่งแวดล้อม ผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เล่นการพนัน เช่น บ้านเป็นบ่อนการพนันหรืออยู่ในย่านชุมชน เพื่อนบ้าน หรือ เพื่อนฝูงเล่นการพนันมักจะถูกสิ่งแวดล้อมดังกล่าวชักจูงให้เล่นการพนันได้ง่ายขึ้น 3. สิ่งยั่วยุต่าง ๆ ทั้งจากสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสารเฉพาะกลุ่มกีฬาและมีการวิเคราะห์พฤติกรรมหรือเกมการเล่นของแต่ละทีม พร้อมทั้งอาจมีการทำนายแนวโน้มผลการแข่งขันมีส่วนยั่วยุให้คนที่ มีแนวโน้มจะเล่นการพนันอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เล่นการพนัน และผู้ที่เล่นอยู่แล้วเล่นในปริมาณที่มากขึ้น และ 4. ระบบสารเคมีในสมองผิดปกติ คือ เกิดการหลั่งสารโดปามีนในสมองมาก ซึ่งเป็นสารที่ทำให้บุคคลรู้สึกตื่นเต้น เป็นสุข สนุกสนาน ขณะที่สารสื่อประสาทสมอง ชื่อ ซีโรโทนินลดลง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้บุคคลมีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนติดการพนัน อย่างไรก็ตาม สาเหตุทั้ง 4 ข้อนี้ มักจะเกิดควบคู่กันเสมอ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดการพนันเป็นภาวะที่เกิดร่วมกับการเจ็บป่วยทางจิตอื่นๆ สูง ทั้งในด้านที่ป่วยทางจิตเวชแล้วไปติดการพนัน เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว หรือ ติดการพนันแล้วมีภาวะซึมเศร้า ติดเหล้า ติดยาเสพติด เป็นต้น ทั้งนี้ จากการศึกษาในนักศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,756 คน อายุเฉลี่ย 20.1 + 1.6 ปี พบร้อยละ 8 เล่นพนันฟุตบอล 32.7% มีอารมณ์ซึมเศร้าอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง และ 10.5% เคยคิดฆ่าตัวตาย อาการติดการพนัน ได้แก่ 1. พนันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำสิ่งที่เสี่ยงมากขึ้น เพื่อรักษาระดับความตื่นเต้น และพยายามให้ได้เงินที่เสียไปกลับคืนมา 2. ไม่สามารถหยุดเล่นการพนันได้ เล่นต่อจนกระทั่งไม่มีเงินเหลือ และ 3.แม้จะประกาศว่าจะไม่เล่นการพนันแล้ว แต่ยังกลับมาเล่นอีก ไม่ว่าจะพยายามมากเพียงใดก็ตาม สำหรับสัญญาณการพนันที่เป็นปัญหา ได้แก่ การเล่นนานกว่าที่ตั้งใจ พนันแบบทุ่มสุดตัวแล้วพยายามเอาคืน โกหกคนในบ้านเกี่ยวกับจำนวนเงินที่เล่น ขาดงาน ขาดการเรียน หรือไปสาย ไม่ทำตามสัญญาที่ให้กับครอบครัว ไม่สนใจด้านอื่นของชีวิตคิดถึงแต่การพนันที่หวังว่าจะได้คืน จะโชคดีได้เงินเยอะ

แนวทางการช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาการพนันจะเริ่มจากการช่วยกันทบทวนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพนัน เพราะผู้เล่นอาจพอรู้ว่าตัวเองมีปัญหา แต่ไม่เคยหันมามองปัญหาของตัวเองให้ชัดเจน เมื่อมองปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงจะร่วมกันสร้างแรงจูงใจในการหยุดเล่น ซึ่งมีหลักการในแนวทางเดียวกันกับการรักษาพฤติกรรมเสพติดอื่นๆ คือ การฝึกตั้งเป้าหมายที่ดี การจัดการสิ่งแวดล้อม การฝึกวิธีควบคุมตนเอง การจัดการอารมณ์และความเครียด การมีคนเป็นกำลังใจ ตลอดจนการรู้วิธีให้รางวัลตนเองเมื่อทำได้ ทั้งนี้ โรคติดพนันสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการทำพฤติกรรมบำบัดและการรักษาด้วยยา ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดการพนันต้องการกำลังใจจากบุคคลรอบข้างเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยสนับสนุนการรักษาดังกล่าว แต่ทางที่ดี ควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้ ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง “ดูบอลให้สนุก ไม่สร้างทุกข์ด้วยการพนัน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

 

 

ที่มา : กรมสุขภาพจิต

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code