กรมวิทย์ฯ เตือนทดสอบเห็ดพิษด้วยตัวเอง เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

จากกรณีที่มีข่าวชาวบ้านในตำบลและอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน บริโภคเห็ดป่าซึ่งมีลักษณะคล้ายเห็ดไข่ห่าน หรือเห็ดโม่งโก้งสีขาวและสีเหลือง เพราะเชื่อว่าได้ทดสอบด้วยการนำไปต้มกับข้าวและช้อนสเตนเลสแล้ว ไม่พบว่าข้าวและช้อนมีสีดำจึงนำไปประกอบอาหารกินร่วมกับสุราพื้นบ้าน ปรากฏว่าหลังจากรับประทานเข้าไปแล้วทำให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรง และมีอาการอาเจียน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนวิธีการดังกล่าวไม่สามารถทดสอบเห็ดพิษได้ และไม่ควรบริโภคเห็ดที่ไม่รู้จัก เพราะเห็ดพิษบางชนิดทนความร้อน แม้การหุงต้มก็ทำลายพิษไม่ได้

นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การทดสอบเห็ดพิษโดยวิธีดังกล่าวถือเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากวิธีดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง จึงไม่ควรนำมาเป็นข้อปฏิบัติ ทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจนเสียชีวิต นอกจากนี้วิธีการสังเกตลักษณะภายนอกของเห็ดก็เป็นเรื่องยาก ในสมัยก่อนมักได้ยินว่าดูที่สีสัน   หากสีสันสวยจะเป็นเห็ดพิษ ซึ่งวิธีดังกล่าวก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะเห็ดพิษบางชนิดมีสีขาว ต้องใช้วิธีตรวจสอบด้วยเทคนิคทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นเห็ดไม่มีพิษ ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก และการนำเห็ดมาบริโภคควรนำมาปรุงสุกก่อนรับประทาน เช่น นำมาแกง มาผัด หมก นึ่ง หรือปิ้งย่าง เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตเป็นเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่ประชาชนนิยมเก็บมารับประทานเอง โดยนำเห็ดหลายชนิดมาปรุงในหม้อเดียวกัน ซึ่งเห็ดมีพิษหลายชนิดมีความคล้ายคลึงกันมากกับเห็ดรับประทานได้ จนยากที่จะจำแนกได้ว่าเห็ดชนิดใดมีพิษหรือไม่มีพิษ แม้แต่ผู้ที่เก็บเห็ดมารับประทานเป็นประจำยังแยกได้ยาก     โดยเฉพาะเห็ดที่เป็นดอกตูม

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า เมื่อพบว่ามีผู้บริโภคเห็ดพิษและเกิดอาการพิษ ซึ่งอาจแสดงอาการหลังรับประทานแล้วหลายชั่วโมง ทำให้พิษอาจกระจายไปมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้จักวิธีปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยรีบด่วนต่อไป โดยการปฐมพยาบาลที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วยโดยวิธีใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal แล้วดื่ม 2 แก้ว  โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง จึงนำส่งแพทย์พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ หากผู้ป่วยอาเจียนให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่สำคัญห้ามล้างท้องด้วยการสวนทวารหนัก วิธีนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น เพราะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหากร่างกายขาดน้ำ หลังจากปฐมพยาบาลผู้ป่วยแล้วให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ (หากยังเหลืออยู่) หรืออาจจะทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในระหว่างนำส่งแพทย์ด้วยกันก็ได้

 นางจุรีภรณ์ กล่าวเตือนอีกว่า อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยเห็ด     ควรรับประทานแต่พอควร อย่ารับประทานจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจจะทำให้ผู้มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ซึ่งควรระมัดระวัง คัดเห็ดที่เน่าเสียออกเพราะเห็ดที่เน่าเสียจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน อย่ารับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นสุกๆ ดิบ หรือเห็ดดิบดอง หรือเห็ดบางชนิดมีพิษน้อย ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกว่ามีพิษ จนเมื่อรับประทานมากจะสะสมพิษมากขึ้นและเป็นพิษถึงกับเสียชีวิตได้ และระมัดระวังอย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุราเพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วภายใน 48 ชั่วโมง เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึกหรือเห็ดถั่ว (coprinus atramentarius) แม้แต่เห็ดพิษอื่นทั่วไป หากดื่มสุราเข้าไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก

 

ที่มา : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code