กรมวิทย์ฯ ตรวจพบน้ำปลาส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน
กรมวิทย์ฯ สุ่มตรวจน้ำปลาทั่วประเทศ พบน้ำปลาแท้-น้ำปลาผสม ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน สธ.ย้ำคุณภาพน้ำปลาไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาขาย ราคาแพงไม่ได้หมายความว่าคุณภาพดีเสมอไป
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ ได้จัดทำโครงการสำรวจคุณภาพน้ำปลา ในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. 2556 โดยเก็บตัวอย่างน้ำปลาที่จำหน่ายตามตลาดสดทั่วไปและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ให้ครอบคลุมผู้ผลิตและผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตในประเทศ จำนวน 471 ตัวอย่าง จากผู้ผลิต 118 ราย แบ่งเป็น น้ำปลาแท้ 242 ตัวอย่าง มีราคาตั้งแต่ 10-45 บาทต่อขวด และน้ำปลาผสม 229 ตัวอย่าง ราคาตั้งแต่ 6-18 บาทต่อขวด พบว่า เป็นน้ำปลาแท้ร้อยละ 62.8 และน้ำปลาผสม ร้อยละ 37.1 ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 203 พ.ศ.2543 กำหนดไว้ว่าน้ำปลาแท้ต้องมีปริมาณไนโตรเจนไม่น้อยกว่า 9 กรัมต่อลิตร และปริมาณกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมด ต้องมีค่าระหว่าง 0.4 – 0.6 ส่วนน้ำปลาผสมกำหนดให้มีค่าไนโตรเจนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 4 กรัมต่อลิตร ปริมาณกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมด ต้องมีค่าระหว่าง 0.4 – 1.3 และการใช้วัตถุกันเสียต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า เมื่อจำแนกคุณภาพน้ำปลาตามราคา พบว่าน้ำปลาแท้ที่มีราคา 10 – 20 บาทต่อขวด ไม่ต่างจากน้ำปลาแท้ที่มีราคา 30 – 45 บาทต่อขวด ที่พบไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 30.5 และ 30.3 ตามลำดับ ดังนั้น การซื้อถูกหรือแพงมีโอกาสได้สินค้าไม่ได้มาตรฐานเท่ากัน ส่วนน้ำปลาแท้ที่มีราคา 21 – 29 บาทต่อขวด พบไม่ได้มาตรฐานสูงถึงร้อยละ 45.4 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากกรดกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวแนะนำการเลือกซื้อน้ำปลา ว่า ให้สังเกตฉลากอาหารและต้องมีการขึ้นทะเบียน อย. โดยระบุอยู่บนฉลากหรือได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ระบุอยู่บนฉลาก, ใสสะอาด มีสีน้ำตาลทอง และมีกลิ่นหอมของปลา สีต้องไม่เข้มเกินไปและไม่มีตะกอน ในน้ำปลาแท้บางครั้งอาจพบผลึกใสๆ ตกอยู่ก้นขวด ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีตามธรรมชาติไม่ถือว่ามีอันตราย, ต้องมีตราสินค้าและบริษัทที่ผลิต, มีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต และวันที่หมดอายุ และสุดท้ายสำหรับผู้แพ้ผงชูรสอาจต้องเลือกชนิดที่ไม่เติมผงชูรส ซึ่งน่าจะมีปริมาณผงชูรสต่ำกว่า แต่ควรระลึกไว้ว่าในน้ำปลาธรรมชาติเองก็มีสารที่มีโครงสร้างเหมือนผงชูรสปริมาณหนึ่ง
ที่มา : สำนักข่าวไทย