กรมวิทย์ฯประกาศความสำเร็จวิจัยวัณโรคระดับนานาชาติ

ที่มา :  เว็บไซต์แนวหน้า


กรมวิทย์ฯประกาศความสำเร็จวิจัยวัณโรคระดับนานาชาติ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประกาศความสำเร็จการทำข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการวิจัยวัณโรคระดับนานาชาติ พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับตรวจหาลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์และเชื้อวัณโรค


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานประชุมสรุปผลงานวิจัยร่วมกันระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กับมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น เพื่อบูรณาการข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์และเชื้อก่อโรค เพื่อประยุกต์ใช้ในการควบคุมวัณโรค “Integrative Application of Human and Pathogen Genomic Information for Tuberculosis Control” โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โปรแกรม Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development (SATREPS) จาก Japan International Cooperation Agency (JICA) และ Japan Agency for Medical Research and Development (AMED) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558ถึงปัจจุบัน


นายแพทย์โอภาส กล่าวว่าโครงการดังกล่าว นักวิจัยจากประเทศไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมกันพัฒนาให้เกิดการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับตรวจหาลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์และเชื้อวัณโรค เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยวัณโรคมีความแม่นยำและรวดเร็วขึ้น สามารถเลือกใช้ยาและปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสมเพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้ป่วยวัณโรค และลดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต้านวัณโรค โดยทีมวิจัยได้ค้นพบปัจจัยเสี่ยงพันธุกรรมที่เป็นความเสี่ยงในการป่วยวัณโรคและได้ค้นพบกลไกการป้องกันการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งงานวิจัยทั้งสองชิ้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ รวมทั้งได้ศึกษาข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อวัณโรค จนทราบปัจจัยพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคที่ส่งผลต่อการดื้อยาต้านวัณโรค และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันและผลต่อการรักษาไม่เหมือนกัน


นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้ศึกษาและพัฒนาวิธีการตรวจยีนย่อยยาต้านวัณโรคที่มักเป็นสาเหตุของอาการข้างเคียงตับอักเสบ จากการทานยาต้านวัณโรค Isoniazid รวมไปถึงการพัฒนาวิธีการวัดระดับยาต้านวัณโรคในเลือดของผู้ป่วยเพื่อช่วยให้การรักษาวัณโรคมีประสิทธิภาพมากที่สุด ลดจำนวนผู้ป่วยที่ได้ผลข้างเคียงจากการใช้ยาและเพิ่มโอกาสรักษาหายของผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทย โดยองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้ยังนำไปสู่การปรับแนวทางการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคของประเทศอีกด้วย


อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ยังก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและระบบห้องปฏิบัติการนวัตกรรมในการให้บริการตรวจหาลำดับเบสทั้งจีโนมของเชื้อวัณโรคด้วยเทคนิควิเคราะห์ลำดับเบสรุ่นใหม่ (Next Generation Sequencing) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย สามารถตรวจเชื้อวัณโรคได้อย่างรวดเร็ว และการเปิดให้บริการตรวจยีนย่อยยา N-Acetyltransferase 2 (NAT2) เพื่อป้องกันอาการตับอักเสบจากการแพ้ยาต้านวัณโรค ซึ่งหน่วยบริการสาธารณสุขที่สนใจสามารถติดต่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อส่งตรวจได้แล้ววันนี้

Shares:
QR Code :
QR Code