กรมควบคุมโรค เผยมาตรการ ป้องกัน-ควบคุมโรค
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
ภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย ยังคงเป็นปัญหาที่ทั่วโลกหวั่นวิตก ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมโรค ได้พัฒนาระบบที่ดีอยู่แล้วให้เข้มแข็งมากขึ้น รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ มีความพร้อม สามารถรับมือ กับโรคและภัยสุขภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ออกมาประกาศชื่อ และอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2558 ไว้ 12 โรค และ พ.ศ. 2561 อีก 1 โรค รวม 13 โรค ได้แก่ กาฬโรค, ไข้ทรพิษ, ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก, ไข้เวสต์ไนล์, ไข้เหลือง, โรคไข้ลาสซา, โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์, โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก, โรคติดเชื้อ ไวรัสอีโบลา, โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา, โรคทางเดินหายใจ เฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส, โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก ซึ่งภาพโดยรวมของโรคติดต่อที่อันตราย มีอยู่ 2 ส่วน คือส่วนที่อยู่ ภายในประเทศและรอดมาจากต่างประเทศ โดยกลไกการรับมือของภายในประเทศ 1. ใช้การเฝ้าระวังเหตุการณ์และรายงาน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดำเนินการ 2. กรณีที่พบคนมีอาการ สถานพยาบาลต้องเฝ้าระวังและตรวจจับตัวโรคดังกล่าวได้ พร้อมกับทำการรักษาและเข้าสู่ระบบส่งต่อได้ โดยกรณีพบรายที่เป็นโรคติดต่ออันตราย หัวใจสำคัญคือให้แยกโรค แยกคนที่เป็น หรือกักโรคผู้ที่สัมผัสแต่ยังไม่มีอาการป่วย แล้วทำการรักษาให้หาย
ส่วนที่มาจากต่างประเทศ วิธีป้องกันโรคที่ดีสุด ประเทศต้นทางนั้นๆ จะต้อง Exit Control ควบคุมไม่ให้ออกนอกประเทศกรณีเจ็บป่วย เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจายสู่ประเทศอื่นๆ โดยประเทศไทยเอง ก็ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้ที่มีประวัติ เดินทางมาจากกลุ่มประเทศเขตติดโรคและกลุ่มเขตโรคติดต่อ ทุกช่องทางเข้า-ออก อย่างเข้มงวดที่ด่านควบคุมโรคติดต่อ ระหว่างประเทศ ทั้งด่านสนามบิน ด่านท่าเรือ และด่านชายแดน
ขณะเดียวกันก็มีนโยบายให้ตรงด่านควบคุมโรคติดต่อ มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับคนไทยที่จะเดินทางไปยังประเทศ ที่เป็นเขตติดโรคและเขตโรคติดต่อด้วย
"หลายกรณีเราพบว่าผู้ป่วยมาเพื่อการรักษาตัว และสถาน พยาบาลตรวจจับได้ สงสัยและแจ้งเรา ซึ่งประเทศไทยได้สร้าง ขีดความสามารถในการรับมือกับโรคติดต่อร้ายแรงในระดับประเทศ ไว้ที่สถาบันบำราศนราดูร ในขณะเดียวกันก็สร้างจุดที่พอจะรองรับ ปัญหาพวกนี้อยู่ตามโรงบาลศูนย์กับโรงพยาบาลทั่วไป รวมถึง โรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่ โดยให้มีห้องแยกสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ นอกจากนี้เราก็เฝ้าระวังในชุมชนโดยการให้ข้อมูลข่าวสาร หรือความรู้ กับทาง อสม. ทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาระบบเหล่านี้ทำให้เราสามารถ ตรวจจับโรคได้หมด"
ขณะที่อาการของผู้ที่น่าจะเป็นโรคติดต่ออันตราย เริ่มแรกจะสังเกต ตัวเองอย่างไร นพ.สุวรรณชัย ได้อธิบายว่า โรคติดต่อส่วนใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อ ติดเชื้อจากคนสู่คน จากสัตว์สู่คน โดยโรคติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักจะมีไข้และเกิดติดเชื้อกับอวัยวะได้ ยกตัวอย่างใน โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เมอร์ส ซาร์ส ซึ่งข้อเสียของโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ จะแพร่กระจายง่าย อาการก็จะมีไข้ ไอ หอบ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว เป็นต้น โรคติดต่อ ที่ติดต่อโดยสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่ง อาการจะเกิดตามอวัยวะ ตามระยะของมัน จะมีอาการไข้และจุดเลือดออก ขึ้นอยู่กับลักษณะของเชื้อและความสามารถที่จะทำให้ก่อโรค และอวัยวะที่ก่อโรคนั้น จะทำให้เกิดอาการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโรคติดต่อที่เป็นอันตรายหลายชนิด ถูกควบคุมและกำจัดไปหมดแล้ว เช่น กาฬโรค ไข้ทรพิษ บางชนิด ยังคงพบอยู่บ้างแต่ลดความรุนแรงของโรคลง แต่ขณะเดียวกันก็ยังพบ โรคติดต่อชนิดใหม่เกิดขึ้นอยู่ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้เตรียมการรับ การระบาดของโรคติดต่ออันตราย และเตรียมความพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการป่วยและสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพดี
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการคำแนะนำ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422