กรมควบคุมโรคเตือน "10 เมนูเสี่ยง" ช่วงหน้าร้อน
ที่มา : สำนักโรคติดต่อทั่วไป /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังกินน้ำแข็งที่ไม่สะอาด เหตุจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้อาหารจะบูดเสียง่าย แนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หลีกเลี่ยง 10 เมนูเสี่ยง หลังปีนี้พบผู้ป่วยมากกว่า 2 หมื่นรายแล้ว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่เริ่มร้อนขึ้นในช่วงนี้ เหมาะแก่การเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของเชื้อโรคหลายชนิด ซึ่งอากาศที่ร้อนแบบนี้ยังทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงการบริโภคน้ำจากตู้กดน้ำและน้ำแข็งที่ไม่สะอาด ไม่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ
สำหรับสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม – 26 กุมภาพันธ์ 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 22,950 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15 – 24 ปี รองลงมา อายุ 25 – 34 ปี และ 45 – 54 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำพูน อำนาจเจริญ ตราด อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด ตามลำดับ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำ น้ำแข็ง ที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ) สารพิษ หรือสารเคมี ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารไม่สะอาด และอาหารที่ปรุงไว้นานแล้ว ไม่ได้แช่เย็นหรือไม่นำมาอุ่นก่อน ในส่วนน้ำแข็งที่ประชาชนรับประทาน อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ จากภาชนะเก็บที่ไม่ได้มาตรฐาน สกปรก หรือวิธีการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้ 10 เมนูอาหารเสี่ยงในช่วงหน้าร้อนที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง/ยำทะเล 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ อาหารที่ไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทาน พร้อมยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยปฏิบัติดังนี้ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนและสะอาด ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังปรุงประกอบอาหาร และหลังขับถ่าย ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้ง กระหายน้ำ อาจมีไข้ เป็นต้น ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ผสมน้ำสะอาดบ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและถ่ายเหลวมากกว่าปกติ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422