กรมควบคุมโรคคุมเข้ม ‘วัณโรคดื้อยา’
คาดการณ์ว่าปี 53 จะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณ 92,300 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 44,475 คน เป็นผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อได้และเสียชีวิตประมาณ 12,089 คน และยังพบว่าส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเป็นผู้ป่วยเอดส์ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 17 โดยมีพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษได้แก่ ชุมชนแออัด แหล่งพักพิงแรงงานต่างด้าว และทัณฑสถานต่างๆ
น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันการที่วัณโรคกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งมาจากหลายสาเหตุโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน รวมถึงการเคลื่อนย้ายคนในพื้นที่ชายแดนเข้ามาเป็นภาคแรงงานก็อาจจะมีการกระจายของเชื้อวัณโรคตามมาด้วย สำหรับประเทศไทยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าปี 53 จะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณ 92,300 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 44,475 คน เป็นผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อได้และเสียชีวิตประมาณ 12,089 คน และยังพบว่าส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเป็นผู้ป่วยเอดส์ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 17 โดยมีพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษได้แก่ ชุมชนแออัด แหล่งพักพิงแรงงานต่างด้าว และทัณฑสถานต่างๆ
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า แนวโน้มของการดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรค แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นผู้ป่วยรายใหม่ในระดับปฐมภูมิที่ตรวจเสมหะพบเชื้อ ร้อยละ 1.6 อัตราการดื้อยาจะน้อย กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้ป่วยในเรือนจำ หรือผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคเอดส์สูง หรืออยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัด หรือในสถานบริการขนาดใหญ่ซึ่งจะมีอัตราการดื้อยาร้อยละ 5-7 และกลุ่มที่ 3 เป็นผู้ที่เคยมีประวัติรักษาวัณโรคมาก่อน หรือรักษาไม่หาย หรือรักษาแล้วกินยาไม่ครบ ขาดยา จะพบอัตราการดื้อยาถึงร้อยละ 34.5 ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเชื้อดื้อยาอยู่ราว 770-800 คน ในจำนวนนี้มี 500-600 คน ที่ขึ้นทะเบียนรักษาเป็นผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาและต้องใช้ยาต้านวัณโรคระดับที่ 2 ซึ่งที่มาของปัญหาวัณโรคดื้อยาเกิดจากผู้ป่วยหยุดรับประทานยาตั้งแต่ยังรักษาวัณโรคไม่หายขาด ทำให้เมื่อกลับมารับประทานยาใหม่เชื้อวัณโรคจะดื้อยาและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น ส่งผลให้การรักษายากขึ้นตามไปด้วยและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพราะการรักษาวัณโรคปกติจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาท แต่ถ้าดื้อยา ต้องใช้ยาระดับ 2 พบว่าค่ายาจะอยู่ที่ 120,000-200,000 บาท และที่น่าเป็นห่วงก็คือ กรณีผู้ป่วยที่ดื้อยาอยู่แล้วและดื้อยาในระดับที่ 2 อีกก็จำเป็นต้องใช้ยาในระดับที่สูงขึ้นไปยิ่งทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกหลายแสนบาทจนถึงเป็นล้านบาท
สำหรับมาตรการในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคนั้น กรมควบคุมโรคได้เร่งดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัณโรค ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยสร้างแกนนำหรือ อสม. เร่งส่งเสริมให้ครอบครัว แกนนำ อสม. และสถานบริการติดตามผู้ป่วยไปถึงบ้านเพื่อดูแลกำกับการกินยาจนครบระยะเวลารักษา รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของสถานบริการโดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษา ส่งเสริมภาคีเครือข่ายร่วมกันฟื้นฟูให้ผู้ป่วยให้สามารถกลับคืนสู่ชุมชนได้ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาครบถ้วน ไม่กลับเป็นซ้ำและไม่สามารถแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและบุคคลอื่น
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง