กรมการแพทย์แนะน้ำนมแม่ป้องกันโรค
กรมการแพทย์แนะให้นมแม่ในเด็กป่วยและเด็กคลอดก่อนกำหนด จะทำให้เด็กได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เด็กมีภูมิต้านทานโรคและภูมิคุ้มกัน
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โดยทั่วไปทารก ป่วยยังมีอัตราการได้นมแม่ถึงอายุ 6 เดือน ในอัตราที่ต่ำ สถิติของคลินิกนมแม่ สถาบัน สุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบว่า เด็กป่วยได้รับนมแม่ถึงอายุ 6 เดือน คิดเป็น ร้อยละ 43.14 หมายถึง มีเด็กป่วยอีกครึ่งหนึ่ง ที่ไม่สามารถกินนมแม่ใน 6 เดือนแรกได้
องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้เลี้ยงลูก ด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และหลัง 6 เดือนให้กินนมแม่ควบคู่กับ อาหารเสริมตามวัยจนอายุ ครบ 2 ปี หรือ มากกว่านั้น ยิ่งเด็กป่วย ยิ่งมีประโยชน์ กรมการแพทย์โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีบทบาทและหน้าที่ในการดูแลทารกที่เจ็บป่วย ในระดับ ตติยภูมิหรือสูงกว่า จึงมีการสนับสนุนให้ ทารกหรือเด็กเล็กที่เจ็บป่วยได้รับนมแม่เนื่องจากน้ำนมแม่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ยิ่งป่วย หรือคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่เจ็บป่วย ยิ่งมีประโยชน์ โดยการพัฒนาวิธีการให้นมแม่ ในทารกที่มีปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดโรคทางสมอง โรคทางพันธุกรรม รวมทั้งในแม่ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น แม่ป่วยหรือแม่ต้องได้รับการผ่าตัด การดูแลส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วย นมแม่สำหรับเด็กป่วยและเด็กคลอดก่อนกำหนด จะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อแม่จะต้องพาลูก กลับบ้านจะช่วยให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ต่อเนื่องตามเป้าหมาย
แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า มักเข้าใจผิดว่า เด็กป่วย อาทิ ทารกคลอดก่อนกำหนด เด็กที่ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เด็กที่ต้องผ่าตัดรักษา จะไม่สามารถกินนมแม่ได้ แต่ในความ เป็นจริงสามารถให้ทารกกินนมแม่ได้ ซึ่งน้ำนมแม่ใน 2-3 วันแรกหลังคลอดมีความสำคัญและคุณค่ามากกับทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่ป่วย จะช่วยให้เกิดภูมิต้านทานโรคเป็นทั้งยาและภูมิคุ้มกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า