กรมการค้าภายใน เข้มดูแลผู้บริโภค

ที่มา :  เว็บไซต์ไทยรัฐ


กรมการค้าภายใน เข้มดูแลผู้บริโภค thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมการค้าภายใน ประกาศปี 62 เดินหน้าดูแลผู้บริโภคเกษตรกร หารือ “สมาคมภัตตาคาร” ดูแลราคาอาหาร จ่อให้เซอร์วิสชาร์จเป็นทางเลือก หลังผู้บริโภคแห่ร้องเรียน แต่ยอมรับร้านส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความร่วมมือ พร้อมตั้งราคาเป้าหมายสินค้าเกษตร 7 ชนิด ลั่นใช้มาตรการแก้ปัญหาหากราคาตก


นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงนโยบายการทำงานในปี 62 ว่า กรมจะเดินหน้าดูแลผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ โดยล่าสุดเตรียมดูแลร้านอาหาร ภัตตาคารให้คิดราคาขายอย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะปัจจุบันได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าร้านอาหารหลายแห่ง โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยว คิดราคาอาหารสูงเกินจริง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ได้เชิญสมาคมภัตตาคารไทย มาหารือเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว และเพื่อทำให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ


“ร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือเข้าร่วมการประชุมกับกรม แต่สมาคมเข้าร่วมประชุม ขณะนี้จึงยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ในเบื้องต้นอาจใช้วิธีกำหนดกำไรที่ร้านอาหารจะบวกเพิ่มในราคาขายได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งร้านอาหารแต่ละระดับจะมีวิธีการคำนวณแตกต่างกัน ทั้งร้านหรู ระดับกลาง หรือร้านข้างทาง เพราะหากกำหนดราคาขายตายตัวคงทำไม่ได้ เพราะร้านอาหาร หรือภัตตาคารแต่ละแห่ง มีต้นทุน คุณภาพสินค้าการให้บริการต่างกัน หากกำหนดราคาตายตัว อาจทำให้ร้านอาหารและภัตตาคารให้บริการ หรือขายอาหารที่คุณภาพด้อยลงได้”


ส่วนเรื่องค่าบริการ (เซอร์วิสชาร์จ) ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะคิดที่ 10% ของราคาอาหาร กรมถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะบางครั้งพนักงานให้บริการไม่ดี ผู้บริโภคไม่เต็มใจจ่ายแต่ต้องยอมจ่าย กรมจึงเสนอให้ร้านอาหารเปิดให้เป็นทางเลือกกับผู้บริโภคที่จะจ่าย หรือไม่จ่ายก็ได้ หากไม่ได้รับความพึงพอใจ ขณะที่การคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% นั้น ร้านอาหารบางแห่งจะคิดราคาอาหารสุทธิแล้วบวกแวตเพิ่มอีก 7% ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะการคิดแวตต้องคิดรวมในราคาอาหารอยู่แล้วจะคิดแยกออกมาไม่ได้ โดยมาตรการต่างๆที่ใช้ดูแลร้านอาหาร ภัตตาคารจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้


ขณะที่การประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) วันที่ 9 ม.ค.นี้จะเสนอให้พิจารณานำสินค้ายาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ เข้าสู่บัญชีสินค้าและบริการควบคุม ซึ่งจะทำให้กรมสามารถกำหนดกำไรที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะบวกเพิ่มเข้าไปในราคายา และค่าบริการทางแพทย์ได้อย่างเหมาะสม จากปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะคิดราคาสูงเกินจริง จนผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน


นายวิชัยกล่าวต่อว่า ยังได้เตรียมมาตรการเชิงรุกในการดูแลราคาสินค้าเกษตร 7 ชนิด ได้แก่ เนื้อมะพร้าวแห้ง ปาล์มน้ำมัน ไข่ไก่ สับปะรด หอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม เป็นการล่วงหน้า ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เห็นชอบแล้ว โดยจะติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาด้านราคาจะเร่งเข้าไปเชื่อมโยงตลาด กระจายผลผลิตออกจากพื้นที่ผ่านตลาดกลาง ตลาดต้องชม และร้านค้าริมทาง รวมถึงเร่งผลักดันส่งออกเพื่อดูแลเกษตรกรให้ขายผลผลิตได้คุ้มกับต้นทุนและไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ


โดยขณะนี้ได้กำหนดราคาเป้าหมายสินค้าทั้ง 7 ชนิดแล้ว และหากราคาตลาดต่ำกว่าราคาเป้าหมายจะใช้มาตรการต่างๆแก้ปัญหาทันที


ขณะเดียวกันยังจะสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการดูแลเครื่องชั่งขนาดใหญ่ที่ใช้ในการชั่งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และเครื่องชั่งน้ำหนักรถยนต์ รถบรรทุก เพราะหากมีการโกงน้ำหนักเพียง 1% จะทำให้เกษตรกรเสียหายปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนการดูแลเครื่องชั่งในตลาดสด และร้านค้าจะให้เจ้าของตลาดรับผิดชอบ หากตรวจสอบพบการโกง เจ้าของตลาดต้องรับผิดชอบ

Shares:
QR Code :
QR Code