กทม.แนะนำ ‘CRASH CUSHION’ เครื่องมือกันรถตกทางด่วน

รู้จัก CRASH CUSHION ลดกระแทก น้ำภายใน-เร็วไม่เกิน 110


กทม.แนะนำ 'CRASH CUSHION' เครื่องมือกันรถตกทางด่วน


เหตุการณ์รถตกทางยกระดับแยกรัชวิภาจนมีผู้เสียชีวิต 2 คนเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก


 “รายงานวันจันทร์” วันนี้ จึงมาพูดคุยกับ ธนา วิชัยสาร” ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. หน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านระบบและสัญญาณการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงอุปกรณ์ชนิดใหม่ที่จะนำมาใช้ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินผู้ใช้รถใช้ถนน


ถาม-จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กทม.มีแนวทางแก้ไขอย่างไร


ธนา-ล่าสุดคณะผู้บริหาร กทม.ได้สั่งการให้เร่งปรับปรุงกายภาพรอบบริเวณจุดที่เกิดเหตุ อาทิ การตีเส้น Rumble Strip หรือเส้นแถบยางบนพื้นถนน การเพิ่มหมุดไฟกะพริบ และเสาบอกแนวเลี้ยวตรงทางแยก เพื่อช่วยเตือนผู้ขับขี่ให้ชะลอความเร็วลง เนื่องจากใกล้ถึงทางโค้งอันตราย พร้อมป้ายเตือน ป้ายแนะนำการใช้เส้นทาง ป้ายจำกัดความเร็ว และป้ายแจ้งเข้าโค้ง ติดตั้งรอบบริเวณให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น


อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้นมีสาเหตุจากหลายองค์ประกอบ เช่น กรณีล่าสุด บริเวณจุดเกิดเหตุ กทม.ได้เคยติดตั้งเครื่อง หมายและป้ายเตือนให้ลดความเร็วไว้แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำหลังเกิดเหตุ และจากรายงานผลการตรวจสอบที่เกิดเหตุก็พบว่า มีการเฉี่ยวชนที่ผนังคอนกรีตกลางถนนอีกฝั่งหนึ่ง ก่อนที่รถจะเสียหลักพุ่งไปทางด้านซ้าย และชนเข้ากับผนังคอนกรีตบริเวณทางลง ทำให้รถตกลงไปด้านล่าง ไม่ใช่ขับชนแยกทางลงโดยตรง และตกลงไปทันทีตามที่หลายคนเข้าใจ


ถาม-กทม.มีมาตรการอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพราะที่แล้วมายังเกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นอีก


ธนา-ขณะนี้ กทม.กำลังอยู่ระหว่างจัดหาอุปกรณ์ช่วยสำหรับบรรเทาความเสียหายกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ได้แก่ Crash Cushion System หรืออุปกรณ์ดูดซับแรงปะทะ ซึ่งใช้ติดตั้งในจุดอันตราย เช่น หัวเกาะ, ทางร่วม, บริเวณทางขึ้นลงสะพาน เพื่อใช้ดูดซับแรงเมื่อเกิดการชน โดยสามารถหยุดรถหรือบังคับให้รถที่เสียหลักให้กลับสู่ทิศทางที่ถูกต้อง คาดว่าภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้จะติดตั้งเสร็จ 18 จุด ใช้งบราว 8 ล้านบาทเศษ


ถาม-อุปกรณ์ที่ว่าทำงานอย่างไร และลดความเสียหายได้ขนาดไหน


ธนา-Crash Cushion System มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า คล้ายแบริเออร์ริมขอบทาง แต่จะหนากว่า มีขนาดยาว 2.5 เมตร กว้าง 50 ซม. และสูง 90 ซม. ใช้ติดตั้งหน้าราวกันชน (ปูน) เดิม ภายในเป็นแท็งก์บรรจุน้ำทรงกระบอก ส่วนภายนอกจะเป็นโลหะ แต่ละชิ้นส่วนของอุปกรณ์ออกแบบเป็นชุด Module ที่มีลักษณะเหมือนกันมาต่อรวมกัน หากเกิดการชนก็เปลี่ยนเฉพาะ Module ที่เสียหายและพร้อมใช้งานต่อทันที


อุปกรณ์นี้ผ่านมาตรฐานการทดสอบ EN (European Standard) ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปแล้ว สามารถรองรับแรงชนของรถยนต์ที่มีน้ำหนักขนาด 1.5 ตัน ที่ความเร็วสูงสุดคือ 110 กม./ชม. !!!!


ด้วยอุปกรณ์ดังกล่าว คาดว่าจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุตามจุดเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น


 


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code