กทม.สั่งรื้อตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อน
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
กทม.สั่งรื้อตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อน ห่วงอันตรายจากการบริโภคน้ำดื่มที่ไม่ได้คุณภาพ
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจตู้น้ำหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตนได้สั่งการให้สำนักอนามัยทำการสำรวจตู้น้ำหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาที่ผู้ว่าฯ กทม.เป็นกังวลถึงอันตรายของประชาชนจากการบริโภคน้ำดื่มที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งผลสำรวจพบว่าในปี 2561 นี้ กรุงเทพฯ มีจำนวนตู้น้ำหยอดเหรียญรวม 3,964 ตู้ เป็นตู้ที่มีใบอนุญาต 160 ตู้ และเป็นตู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต 3,804 ตู้
สำหรับพื้นที่ที่มีตู้กดน้ำหยอดเหรียญมากที่สุด คือ พื้นที่เขตจตุจักร 310 ตู้ เขตลาดพร้าว 295 ตู้ เขตยานนาวา 214 ตู้ ส่วนสำนักงานเขตที่มีตู้กดน้ำหยอดเหรียญน้อยที่สุด คือ เขตสัมพันธวงศ์ 11 ตู้
"ที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้มีการออกหนังสือเรียกให้ผู้ประกอบการมาดำเนินการขอใบอนุญาตการประกอบกิจการติดตั้งตู้น้ำหยอดเหรียญตามกฎหมาย เนื่องจากถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2558 แต่ผู้ประกอบไม่ยินยอมมาชำระค่าธรรมเนียม เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมที่สูง โดยตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1 ตู้ ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อปี" รองผู้ว่าฯ ระบุ
และว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการแจ้งทุกสำนักงานเขตดำเนินการตามกฎหมายในตู้น้ำที่ติดตั้งไม่ได้รับอนุญาต ให้แจ้งผู้ประกอบการมาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย กรณีไม่สามารถติดต่อหาเจ้าของได้หรือไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของ ให้ดำเนินการรื้อถอนตู้ดังกล่าวทันที ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายสาธารณสุขการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท
นอกจากนี้ กทม.อยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติฯ ทำให้ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญลดลง เพื่อเป็นการแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตเพิ่มมากขึ้น โดยหากมีการประกาศใช้จะทำให้ดูแลได้อย่างทั่วถึง และเป็นการจูงใจผู้ประกอบการให้เข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลงอยู่ที่ 500 บาท ต่อ 1 ตู้ ต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา