กทม. ปริมณฑล วิกฤติค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
กทม. ปริมณฑล วิกฤติค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานพุ่งสูง ประสานกรมฝนหลวงช่วย แนะประชาชนใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ว่าช่วงเช้า อากาศยังคงลอยตัวไม่ดี สภาพอากาศปิด มีเมฆเป็นส่วนมากและมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้สถานการณ์ PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับ ‘เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ’ ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
โดยพื้นที่ริมถนน สถานีวัดคุณภาพอากาศแสดงผลค่าฝุ่นละออง PM2.5 โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 19 พื้นที่
พื้นที่ทั่วไป (ห่างจากริมถนนสายหลัก) โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 17 พื้นที่
คาดการณ์ว่า คุณภาพอากาศในวันพรุ่งนี้จะอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และจากโมเดลพยากรณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงวันที่ 13 – 14 ม.ค.62 อากาศยังคงลอยตัวไม่ดี สภาพอากาศค่อนข้างปิด
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้ประสานงานกับ กทม. และ 5 จังหวัดปริมณฑล เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างต่อเนื่อง
กทม. ได้มีคำสั่งให้ทุกเขตดำเนินการกวาดล้างถนนอย่างเข้มงวดทุกวัน พร้อมทั้งจัดอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง ตรวจวัดควันดำ และรณรงค์ลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง รวมทั้งประสานกับกรมฝนหลวงฯ จัดให้มีการตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมปฏิติการในวันที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการทำฝนเทียม
ทั้งนี้ คพ.ได้ประสานเพื่อบูรณาการการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กทม. บก.จร. ขนส่ง กองทัพฯ กรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ว่าฯ ปริมณฑล ทั้ง 5 จังหวัด ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ข้อแนะนำสำหรับการปฎิบัติตนในพื้นที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ คือ
- ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จากกรมควบคุมมลพิษ
- หมั่นสังเกตอาการทางสุขภาพเบื้องต้น เช่น ไอ ระคายเคืองตา
- สำหรับพื้นที่ที่มีฝุ่นละลองหนาแน่น ให้พี่น้องประชาชนอยู่ภายในบ้าน หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัยคุณภาพดี ที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ในระดับสูง แต่ถ้าจะสวมหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาที่มีขายทั่วไปก็ได้ ก็สามารถป้องกันได้ดีระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม โรคพวกนี้ไม่ใช่โรคมีผลเฉียบพลัน หากผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่มีโรคประจำตัว ก็จะไม่เกิดผลกระทบในทันที ทั้งนี้ ให้ดูอาการภายใน 24-72 ชั่วโมง อาจมีการระคายเคืองในระบบหายใจ หากเป็นไม่มากอาการจะหายไปเอง
สำหรับผู้มีผลกระทบ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่สูบบุหรี่ประจำ ต้องปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยได้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามที่ ายด่วนกรมควบคุมโรค 1142