กทม.จับมือ สสส. เนรมิตสนามหลวงสร้างบรรยากาศไทยย้อนยุค
“ปีใหม่ ชีวิตใหม่ ไร้แอลกอฮอล์”
(เช้าวันที่ 22 ธ.ค. 52) กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) จัดงานแถลงข่าว “ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แบบวัฒนธรรมไทย ปีใหม่ ชีวิตใหม่ ไร้แอลกอฮอล์” ณ ลานกิจกรรมสร้างสุข สสส.ชั้น 35 หวังเนรมิตรท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อเด็ก เยาวชน และประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว ร่วมงานปีใหม่แบบไทย ย้อนยุคอย่างมีความสุข สนุกและปลอดภัย ภายใต้การปฏิบัติตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 51 ในเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้
นพ.โกวิท ยงวานิชจิต รองผู้อำนวยการ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวคิดการจัดงาน เฉลิมฉลองว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีสติที่ลดลง ทำให้เสี่ยงต่อเกิดอุบัติเหตุ และส่งผลให้เกิดปัญหาที่ตามมามากมาย เทศกาลจึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ทราบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นจริงๆ ในเทศกาลปีใหม่ถือเป็นเทศกาลส่ง ความสุข สนุกสนาน แต่อาจไม่ใช่ความสุขที่เป็นจริง เนื่องจากเทศกาลปีใหม่ จะมีสถิติของผู้ เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิตมากที่สุด เมื่อในเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมาได้มีการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวดมากขึ้น จึงทำให้มีการบรรยากาศของความสุข สนุกสนานมากเพิ่มและเป็นความสุขที่แท้จริง เทศกาลปีใหม่ก็นี้เช่นกัน น่าจะเป็นงานที่ปลอดแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นเทศกาลส่งความสุข กทม.จึงร่วมรณรงค์ให้มอบของขวัญที่ปลอดเหล้าเช่นกัน และขอเชิญชวนคณะผู้ที่จัดงานทั้งหลายร่วมจัดในแบบปลอดเหล้า พร้อมทั้งผู้ที่ยังดื่มอยู่ใช้โอกาสนี่เพื่อลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นการตั้งต้นชีวิตใหม่ และเป็นต้นแบบที่ดีแก่ลูกหลาน”
“กทม. จึงได้ใช้โอกาสเฉลิมฉลองนี้ สร้างพื้นที่ สนุก ปลอดภัย และกิจกรรมทางวัฒนธรรมย้อนยุคแบบไทยๆ เพื่อเฉลิมฉลองและมอบเป็นของขวัญปีใหม่ สร้างความสุขให้แก่คน กทม. ซึ่งสนามหลวงถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่อยู่ภายใต้พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 กทม.จึงจัดงานเฉลิมฉลองโดยปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำมาซึ่งความสุข รวมถึงการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในคืนแห่งการเฉลิมฉลองก่อนเข้าสู่ดิถีของปีใหม่” น.พ.โกวิท กล่าว
ดร.นงพะงา บุญปักษ์ ผอ.กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าวว่า “ในเทศกาลปีใหม่ พุทธศักราช 2553 กทม. จัดงานปีใหม่แบบไทยๆ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของการมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอย่างมีความสุข โดยเริ่มต้นจากกิจกรรม ทางศาสนา มีพิธีอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร จากศาลาว่าการ กทม.ไปประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ให้ประชาชนสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับกิจกรรมการแสดงจะมีมหรสพหลายเวที ได้แก่ เวที การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย อาทิโขน ละครนอก และการแสดงพื้นบ้าน อาทิ ลำตัด และเวที การแสดงพนตรีไทยสากล ลูกทุ่ง ลูกกรุง รวมทั้งการฉายภาพยนตร์กลางแปลง และบริการเครื่องเล่นต่างๆ รถไต่ถัง ชิงช้า ม้าหมุน เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (otop) จาก 50 เขตของกทม. อีกด้วย
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองกรงดเหล้า กล่าวถึงแนวคิดการสนับสนุนการจัดงาน เฉลิมฉลองปีใหม่โดยไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครว่า “จากเทศกาลปีใหม่ วันฉลองสูงสุด วันดื่มสุราสูงสุด กลับกลายเป็นวันที่เสียชีวิตสูงสุด โดยวันที่มีการเสียชีวิตสูงสุดส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (ระหว่างวัน 31 ธันวาคม และ1 มกราคม) ของทุกปี ซึ่งมักจะมีการเฉลิมฉลอง(countdown) กันด้วยการดื่มสุรา จะเห็นได้จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุและตายในปีที่ผ่านมาในคืนวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี จะมีการตายสูงสุด คือ ตาย 74-148 ราย เฉลี่ย 106 ราย หรือคิดเป็น 3.1 – 6.2 ราย/ชั่วโมง หรือ ทุก 13.4 นาที สาเหตุสำคัญมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้ง แนวโน้มของพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศกำลังลอกเลียนแบบการจัดงานเฉลิมฉลอง ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยธุรกิจแอลกอฮอล์นำลานเบียร์เข้ามาใช้ในการส่งเสริมยอดขายควบคู่กับการเฉลิมฉลอง ซึ่งเป็นที่น่าเป็นห่วง ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะนำมาซึ่งตัวเลขที่พุ่งขึ้นของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น”
“สสส. และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) รู้สึกชื่นชมทาง กทม.ที่เห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว และได้เนรมิตท้องสนามหลวงให้เป็นพื้นที่จัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่ ด้วยวัฒนธรรมวิถีไทย เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ ชีวิตใหม่ ไร้แอลกอฮอล์ พร้อมไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การเฝ้าระวังตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 โดยทาง สสส.จะมีเครือข่ายเด็กเยาวชนเข้ามาร่วมรณรงค์สร้างสีสันในงาน เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิด ค่านิยม และเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการจัดงานเฉลิมฉลอง ที่เต็มไปด้วยความสุขและความอิ่มเอมทางวัฒนธรรม โดยที่ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง” เภสัชกรสงกรานต์กล่าว
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
update: 22-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อภิชัย วรสิทธิ์ขจร