กฐิน-ผ้าป่าปลอดเหล้า

ลดการเสียชีวิต-ประหยัด 3 หมื่น/งาน

 

กฐิน-ผ้าป่าปลอดเหล้า

 

          ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา-ออกพรรษาเรื่อยเลยไปถึงช่วงบุญกฐินบุญผ้าป่าถือว่าเป็นงานบุญงานกุศลสำคัญอีกช่วงหนึ่งของพุทธศาสนิกชนที่จะดึงสำนึกให้คิดถึงแต่คุณงามความดี มุ่งทำความดีงาม แม้ชั่วเพียงไม่กี่วันของเทศกาลก็ได้บุญกุศลมหาศาลแล้ว

 

          ภาพของบุญกุศลที่ตอบสนองการทำดีตรงนี้คือทำให้อายุของทุกคนยืนยาว ทำให้ทุกคนมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสสดชื่น ทำให้ทุกคนมีคนรักใคร่นับหน้าถือตา ลดค่าใช้จ่ายลดการสูญเสียและค่าเสียหาย ตรงกันข้ามกลับได้ความแข็งแกร่งในการดำเนินชีวิตเพิ่มมากขึ้น สังคมเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

 

          แต่นั่นเราต้องมีอำนาจเหนือตัวร้ายให้ได้ ตัวร้ายที่มักทำให้เกิดความสูญเสียอันใหญ่หลวงดังที่กล่าวข้างต้น เพราะเป็นตัวทำให้คนทุกคนขาดสำนึกที่จะทำตัวดีงามก็คือตัวทำลายสติสัมปชัญญะ ทำให้ขาดสติก็คือน้ำเมาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้าเบียร์ทุกชนิดทุกประเภทนั่นเอง

 

          ตัวนี้เรียกภาษาพระคือ “อบายมุข” เรียกภาษาชาวบ้านก็คือตัวพาไปสู่ความหายนะหรือความฉิบหายนั่นเอง

 

          สังคมไทยพี่น้องไทยเราห่วงกันสามัคคีกันระดมกัน สะกิดให้ทุกคนไทยมีสติผ่านการรวมตัวเป็นหน่วยงานต่างๆ อย่างเช่นรวมกันเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่ตีฆ้องร้องป่าวเพื่อให้เกิดกระบวนการผนึกพลังสร้างภูมิคุ้มกันตัวร้ายที่นำไปสู่ความหายนะคือเหล้า เป็นต้น

 

          สสส.ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ตีฆ้องร้องป่าวมานานหลายปี โดยเฉพาะในวันสำคัญที่เป็นบุญกุศลอย่างวันเข้าพรรษา ออกพรรษา ซึ่งจะมีกิจกรรมงานบุญต่อเนื่องคือการทอดกฐิน-ผ้าป่า ก็ถือโอกาสระดมชักชวนให้ห่างไกลเหล้า ไปทำความดีโดยไม่ต้องนึกถึงเหล้า จำนวนคนที่ได้สติแล้วช่วยเป็นกำลังสะกิดคนที่ยังคุมสติไม่ได้ แน่นอนเพื่อที่เราจะได้เพิ่มคนมีสติมีสำนึกดีมากมายขึ้นอีก เพื่อลดความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินที่ตีเป็นทั้งตัวเงินได้และไม่ได้จำนวนมากยิ่งขึ้น

 

          วันนี้ถึงช่วงออกพรรษา กิจกรรมการบุญกุศลเวียนมาบรรจบอีกหนึ่งหน และเมื่อเร็วๆ นี้ได้เห็นงานแถลงข่าว “งานบุญออกพรรษา กฐินผ้าป่า ปลอดเหล้า” ที่จัดโดย กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภายในงานมีการแสดงละครจำลองสถานการณ์ “กฐินที่เกือบจะเปื้อนเหล้า” และการรณรงค์แจกสติกเกอร์งดเหล้าในเทศกาลงานบุญ โดยมีประชาชน นิสิต นักศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 100 คน

 

          นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า สสส.และเครือข่ายได้รณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องทุกปีเช่นเดียวกับปีนี้ หลังเทศกาลออกพรรษาจะมีการจัดทอดกฐิน ผ้าป่า ทั่วทุกภาคของประเทศไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนค่านิยมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณีต่างๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความสิ้นเปลืองในการจัดงานแต่ละครั้งแล้ว ยังช่วยลดปัญหาที่จะตามมา เช่น ปัญหาหนี้สินสุขภาพทรุดโทรม ปัญหาครอบครัว การก่ออาชญากรรม อุบัติเหตุและการเสียชีวิต

 

          ทั้งนี้ข้อมูลจากโรงพยาบาลเครือข่ายในระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ ปี 2552 จำนวน 28 โรงพยาบาล พบว่า ช่วงเข้าพรรษาซึ่งเป็นเดือนที่ประชาชนงดเหล้า ทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บขั้นรุนแรง และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ลดลงจากเดือนอื่นๆ โดยช่วงเข้าพรรษามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 284 ราย บาดเจ็บ 5,566 ราย ในขณะที่เดือนอื่นๆ จะมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยมากถึงเดือนละ 371 ราย และบาดเจ็บอีก 6,128 ราย

 

          “ตอนนี้พื้นที่กฐินปลอดเหล้า พบว่ามีเพิ่มขึ้นและครอบคลุมในหลายจังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ลำปาง น่าน แพร่ เชียงใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เมื่อจัดงานกฐินหรือผ้าป่าปลอดเหล้า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเหล้าลง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือประมาณ 1-3 หมื่นบาทต่องาน ซึ่งแต่ละจังหวัดได้ขยายผลไปสู่งานผ้าป่าปลอดเหล้า รวมทั้ง งานบุญออกพรรษา งานแข่งเรือ งานไหลเรือไฟ งานชักพระ งานแห่ปราสาทผึ้ง”นายธีระ กล่าว

 

          ผู้จัดการฯ สคล. กล่าวด้วยว่า การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา-ออกพรรษา และเทศกาลงานบุญปลอดเหล้า ทางเครือข่ายฯ สสส. และกระทรวงสาธารณสุข ต้องการสร้างกระแสสังคมให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะไม่สามารถให้ทุกคนเลิกดื่มได้ทั้งหมด แต่ทำให้การดื่มในสังคมไทยลดลง หากงานบุญกฐินมีเหล้า คนที่มาทำบุญแทนที่จะได้บุญ กลับได้บาป ซึ่งการรณรงค์ครั้งนี้ คงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งเจ้าภาพกฐิน เจ้าอาวาส คนร่วมบุญกฐิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเห็นความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการผลักดันมาตรการห้ามดื่ม ในรถหรือท้ายกระบะ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต

 

          ไม่อยากจะให้คิดถึงกฎหมายที่จะต้องเอามาใช้บังคับกัน แต่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นดังข้อมูลที่ย้ำข้างต้นนั้น คนที่ต้องรับผิดชอบต้องแบกทุกข์หนักไม่ต่างจากคนขาดสติเพราะเหล้าแล้วก่อความเสียหายหรือจะทุกข์หนักยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป

 

          มาร่วมกันเพิ่มจำนวนคนดีมีสำนึกดีที่ไม่ยุ่งกับเหล้าในช่วงเทศกาลงานบุญเข้าพรรษา-ออกพรรษาช่วงทอดกฐิน-ผ้าป่าทำให้ติดเป็นนิสัยลดเลิกเหล้าในการใช้ชีวิตปกติไปเลยยิ่งดี เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตสูญเสียอวัยวะถึงพิการ สูญเสียทรัพย์สินเงินทองจนถึงศักดิ์ศรีความนับหน้าถือตาแล้วก็ร่วมกันลดค่าใช้จ่ายในงานบุญแต่ละครั้งไปด้วยในตัวกันอย่างถาวรในอนาคตอันใกล้นี้

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

 

 

Update: 28-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: สุนันทา สุขสุมิตร

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ