กฏหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กระทรวงสาธารณสุข ย้ำผลบังคับใช้กฏหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุเมาแล้วขับยังไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้

นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการบังคับใช้กฏหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างจริงจังในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยได้ตรวจจับทั้งหมด 474 คน ดำเนินคดีผู้กระทำผิด 218 คน ตักเตือน 256 คน แต่ผลการดำเนินการควบคุมป้องกันอุบัติเหตุทางการจราจรในช่วง ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายนที่ผ่านมา ยังพบว่าการเมาแล้วขับยังคงเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเกิดอุบัติเหตุ เกือบร้อยละ 40 กระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอมาตรการควบคุมป้องกันอุบัติเหตุจราจรระยะยาวไม่เฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญเท่านั้น เสนอเข้าที่ประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

โดยแบ่งข้อเสนอเป็น 3 ประเด็น คือ ประเด็นการบังคับใช้กฏหมาย ขอให้เข้มงวดใน 3 เรื่อง คือ การควบคุมความเร็วรถ เพราะช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาพบว่าความเร็วรถเพิ่มขึ้นทำให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่ม และทำให้อัตราการเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุมากถึงร้อยละ 67 การควบคุมเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกกันน็อค และการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในทุกจังหวัดตลอดทั้งปี ประเด็นเรื่องช่องทางการติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน จะขอให้กรมประชาสัมพันธ์และภาคีเครือข่าย ช่วยกันประชาสัมพันธ์หมายเลขสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ให้ประชาชนรู้จักมากขึ้น

เนื่องจากสงกรานต์นี้มีประชาชนที่รู้จักและเรียกใช้บริการสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น และประเด็นเรื่องการขยายโครงข่ายกู้ชีพ โดยควรมีรถกู้ชีพกู้ภัยครบทุก อบต.และทุกเทศบาล พร้อมจัดการอบรมความรู้พัฒนาบุคลากร ทั้งตำรวจจราจรและอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.)ให้มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะสามารถให้การดูแลผู้บาดเจ็บได้อย่างทันท่วงที เพราะเป็นกลุ่มคนที่มักอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุอยู่แล้ว ซึ่งจะเพิ่มอัตรารอดชีวิตให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุได้มากยิ่งขึ้น

 

ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code