ไร้บ้าน ไม่ไร้หัวใจ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


ไร้บ้าน ไม่ไร้หัวใจ thaihealth


'ไร้บ้าน ไม่ไร้หัวใจ' เรื่องราวจากกลุ่มคนชายขอบที่เคยอยู่ อย่างไร้ตัวต้นในสังคม วันนี้ "คนไร้บ้าน" กลุ่มหนึ่งกลับมา ตั้งหลักชีวิตใหม่ได้อีกครั้งที่ชุมชนใหม่ คนไร้บ้าน พุทธมณฑลสาย 2


หลายคนที่นี่ยังก้าวจากการเป็นผู้รับ มาสู่การเป็นผู้ให้ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย หนึ่งในภาคีเครือข่ายของสำนักงานสนับสนุนสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสื่อสารปรับทัศนคติของสังคม เปิดพื้นที่โอกาสให้คนไร้บ้านได้ฟื้นฟูศักยภาพและ เข้าถึงสิทธิต่างๆ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม


ในมุมมองของคนทำงานสังคมที่คลุกคลี กับพี่น้องคนไร้บ้านมากว่า 15 ปี สมพร หารพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มองว่า การมีบ้านที่เป็นเพียงแค่ "วัตถุ" ไม่ใช่คำตอบเดียวของปัญหาคนไร้บ้าน แต่สิ่งที่สำคัญคือการฟื้นฟูศักยภาพ สร้างความเข้มแข็งมั่นคงภายในจิตใจ คีย์สำคัญคือต้องทำให้เขาลุกขึ้นมา แก้ปัญหาด้วยตัวเอง กระบวนการฟื้นฟูหลักๆ เราใช้เรื่องของการสร้างความเข้าใจก่อนเบื้องต้นว่า ถ้าอยากจะยืนอยู่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงยังไง เช่น ถ้าบอกว่าคุณไม่มีรายได้ แต่ถ้ายังอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ยังไง ก็ไม่มี ต้องลองลุกขึ้นมา ลองทำดูก่อน ด้วยตัวเอง


ในปี 2544 กรุงเทพมหานครมีนโยบายปิดท้องสนามหลวง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนา ที่อยู่อาศัยจึงเข้ามาให้ความรู้เรื่องสิทธิในการ ใช้พื้นที่สาธารณะ เกิดการรวมกลุ่ม "คนไร้บ้าน" นำไปสู่การเจรจาต่อรองกับกทม. ต่อมาจึงผลักดันมาสู่การจัดตั้ง "ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย" (หรือ "ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู") และก้าวสู่โครงการนำร่อง ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน พุทธมณฑลสาย 2 ในปี 2558 บนที่ดินเช่า 20 แปลงของการรถไฟฯ จึงถือเป็นบันทึกหน้าใหม่ของคนไร้บ้าน 23 ชีวิตที่ได้มีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าใครสักคนจะหลุดพ้น จากวงจรคนไร้บ้าน บางคนใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะมานับสิบปี ถูกมองข้ามละเลย จากสังคมมาเป็นเวลานาน ชีวิตที่ไม่อาจ ไว้วางใจใครทำให้พวกเขามีกำแพงในใจ ที่ปิดกั้นตัวเองจากภายนอก ในขณะที่ คนข้างนอกก็มองไม่เห็นพวกเขา คนที่อยู่ข้างหลังในกำแพงก็รู้สึกยากลำบากที่จะ กล้าก้าวออกมาในสังคม


กว่าจะมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างวันนี้ จึงต้องผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อม กระบวนการฟื้นฟูศักยภาพในตัวเอง กล้าที่จะคุย กล้าที่จะเปิดใจกับคนอื่นและกล้าคิดเรื่องอนาคต ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ที่จะอยู่ร่วมกันใน "ศูนย์คนไร้บ้าน" ที่มีกฎกติกา และความรับผิดชอบร่วมกัน เช่น การประชุม ประจำเดือน การแชร์ค่าน้ำค่าไฟร่วมกัน เริ่มมีการออมทรัพย์เพื่อดูแลสุขภาพ และขยับสู่การออมเงินเพื่อที่จะมีบ้านซึ่งเป็น แรงผลักดันให้หลายคนมีฝันและเป้าหมายในชีวิต


ไร้บ้าน ไม่ไร้หัวใจ thaihealth


จากก้าวแรกของการมีบ้านเป็นของตัวเอง ยังนำมาสู่การรวมกลุ่มกันเป็นอาชีพช่างก่อสร้างในนาม หจก.คนไร้บ้าน กลุ่มขยะรีไซเคิล พื้นที่ส่วนหนึ่งในชุมชนใหม่ คนไร้บ้าน พุทธมณฑลสาย 2 ยังถูกจัดสรร มาเป็นแปลงเกษตร เน้นปลูกผักกินเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย และส่วนหนึ่งปลูกไว้ขาย รวมถึงทดลองเลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา แพะและกบ เพื่อเป็นอาชีพเสริม


"สิ่งที่เราทำไม่ใช่การหาสิ่งใหม่ให้เขา แต่ต้องดึงเอาสิ่งที่เขามีติดตัวอยู่แล้วมาเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้น เช่น พี่น้องคนไร้บ้านหลายคนมีอาชีพเก็บของเก่า เราจึงพยายามพัฒนาทำเป็นธนาคารขยะขึ้นมาเพื่อให้เขา บริหารจัดการ เป็นทั้งยี่ปั๊ว และซาปั๊วเอง ขณะที่บางคนเคยมีอาชีพเป็นช่าง เป็นแรงงานก่อสร้างในแคมป์มาก่อน เริ่มมีการรวมตัวกันเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดคนไร้บ้าน เพื่อไปรับงานก่อสร้างต่อเติมต่างๆ" สมพร เล่าถึงการขยับทีละก้าวของคนไร้บ้าน


"สิ่งที่น่าชื่นชม คือ หลายคนที่ลุกขึ้น มาสู้ ตั้งหลักชีวิตได้อีกครั้ง เริ่มนึกถึงเพื่อน พี่น้องคนไร้บ้านคนอื่นๆ ที่ยังเดือดร้อน จากเดิมที่เขาอาจจะไม่เคยคิดถึงใครเลย บางที แม้แต่ตัวเองก็ยังไม่คิดถึงด้วยซ้ำ มีหลายเรื่องที่ทำให้เห็นว่า เมื่อข้างในของเขาเปลี่ยน ทำให้เขาเริ่มนึกถึงคนอื่นมากขึ้น ไม่ใช่แต่การช่วยเหลือในกลุ่มคนไร้บ้านด้วยกันเอง แต่มีทั้งเหตุภัยพิบัติจากสึนามิที่คนไร้บ้านอาสาไปช่วยสร้างบ้านให้กับผู้ประสบภัย และ เหตุการณ์ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อยเป็นหนึ่งในศูนย์ที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องที่ถูกน้ำท่วมยากแก่การ เข้าถึง" สมพร เล่าถึงหัวใจอาสาของคนไร้บ้าน


ธเนศร์ จรโณทัย หรือ "อี๊ด" เป็นหนึ่งในแกนนำชุมชนใหม่คนไร้บ้านที่ผ่านกระบวนการ ทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยการหนุนเสริมจากสสส. จนกล้าลุกขึ้นมาพิสูจน์ตัวเอง จากน้องคนเล็กที่หลุดออกจากบ้านเพราะปัญหาในครอบครัว หันมาใช้ชีวิต ตัวคนเดียวในที่สาธารณะแถวหมอชิต ไม่มีบัตรประชาชน น้ำไม่อาบเป็นอาทิตย์ เก็บของเก่าหอบหิ้วถุงพะรุงพะรัง เจ้าตัวเล่าว่า ชีวิตช่วงนั้น วันๆ หมดเงินไปกับเหล้า และ เที่ยวเฝ้าอธิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ตายเร็วๆ ตอนนี้ เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองจากหน้ามือ เป็นหลังมือ เมื่อค้นพบความหมายใหม่ของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าเพื่อคนอื่น


ปัจจุบัน อี๊ดมีอาชีพหลักเป็นพ่อค้าขายของ มือสองย่านตลาดรถไฟ อีกบทบาทหนึ่งของเขา คือการทำงานลงพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน เป็นตัวแทนเจรจาเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับเพื่อนพี่น้องคนไร้บ้าน งานนักเคลื่อนไหวเพื่อ สังคมร่วมกับขบวนการคนจนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นงานที่เขาภาคภูมิใจ แรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เขาเลิกหมดแล้วทั้งการเป็นขี้เหล้า และสิงห์อมควัน


ไร้บ้าน ไม่ไร้หัวใจ thaihealth


อี๊ด คนไร้บ้าน เล่าว่า การได้มารู้จักกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2551 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขามองเห็นคุณค่าและศักยภาพในตัวเอง ความหวังถึงชีวิตที่ดีขึ้น อยากเป็นคนที่ดี มีเงินออม มีบ้าน และได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ทำให้ชีวิตมีความหมาย ไม่ใช่แค่อยู่ไปวันๆ


"ทุกวันนี้ เราเป็นคนรุ่นแรกที่ได้มีบ้าน ก็ต้องพยายามส่งเงินคืนให้ได้สม่ำเสมอ เดือนละ 701 บาทเพื่อส่งต่อโอกาสให้กับ คนไร้บ้านรุ่นอื่นๆ ที่รออยู่ พยายามสร้างอาชีพ เพื่อหาเลี้ยงตัวเราให้ได้ ตอนนี้ มีรวมกลุ่มกัน เป็นอาชีพงานช่าง แต่บางทีปีหนึ่งรับไม่กี่งาน งานไม่ต่อเนื่อง ก็ต้องขวนขวายออกไปหางาน ข้างนอก นอกจากนี้ ก็มีกลุ่มอาชีพรีไซเคิลขยะ ทดลองเลี้ยงไก่ เป็ด ปลา แพะที่ได้ทุนมาจากภาครัฐ ซึ่งเราต้องมาต่อยอดเพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้" อี๊ด เล่าถึงก้าวที่ไม่ง่ายของคนไร้บ้าน


ด้านเสียงสะท้อนจาก "ช่างเล็ก" สวัสดิ์ คชบาง หนึ่งในทีมงาน หจก. คนไร้บ้าน จากอดีตคนงานช่างในโรงงานนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่ชีวิตพลิกผันเพราะโดนจับฉลากลอยแพ ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หอบเงินก้อนสุดท้ายมาค้าขาย แต่ในที่สุดชีวิตลงเอยกลายเป็นคนไร้บ้าน ร่อนเร่อยู่อย่างวันๆ แบบไม่มีอาชีพ ค่ำไหนนอนนั่น เที่ยวหาข้าวตามวัด รับของแจกตามที่ต่างๆ เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้เริ่มพัฒนาตนเอง เริ่มหาอาชีพ จนมาลงเอยที่การเป็นช่างซึ่งเป็นความสามารถเดิมที่มีติดตัวอยู่แล้ว นำมาสู่การรวมกลุ่มอาชีพช่างเป็นหจก.คนไร้บ้าน เพื่อรับงานร่วมกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการรับงานปูตัวหนอนให้กับสสส. เป็นงานแรก ปัจจุบันงานระยะยาวที่ทำอยู่ คือ การปรับปรุงศูนย์คนไร้บ้านที่บางกอกน้อย ซึ่งถือเป็นอีกแหล่งของการจ้างงานคนไร้บ้าน


ช่างเล็ก ยิ้มน้อยๆ พร้อมบอกว่า ชีวิตวันนี้ดีขึ้น มีหลักแหล่ง มีบ้านอยู่ จากที่เคยต้องแยกกันอยู่กับภรรยา วันนี้ได้มีโอกาสกลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าอีกครั้ง ช่วงที่ผ่านมา ช่างเล็กยังเป็นหนึ่งในทีมเดินกาแฟเพื่อออกไปลงพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนกับคนไร้บ้านร่วมกับมูลนิธิฯ เช่นเดียวกับ น้ำตาล โสภากิจ หรือ "อ้วน" ที่ใช้ชีวิตจริงของตัวเองเป็นเครื่องมือในการรณรงค์บอกเล่ากับเพื่อนคนไร้บ้านคนอื่นๆ ผ่านกิจกรรมที่เรียกกันว่า "เดินกาแฟ" หิ้วกระติกน้ำร้อน พร้อมกาแฟซอง ชงใส่แก้ว เป็นสื่อกลางเพื่อสนทนานั่งคุยแลกเปลี่ยนกับคนไร้บ้าน ที่อยู่ตามที่สาธารณะต่างๆ


"ไปช่วยพูด ไปชวนคุยว่า คนเราอายุมากขึ้นไปทุกวัน มานอนตากแดดตากฝนอย่างนี้ไม่มีอะไรดีขึ้นมา บางคนอยาก เข้ามาอยู่ที่ศูนย์ แต่เขาไม่อยากอยู่ในกฎเกณฑ์ ต่างๆ เราจะบอกว่า ถึงคุณไม่มาอยู่ แต่เราก็ยังเป็นเพื่อนกันได้ บางครั้งเขาไม่สบาย เราช่วยแนะนำได้ว่าให้ไปโรงพยาบาลที่ไหนที่ไม่เสียเงิน เราเป็นคนไร้บ้านคนหนึ่งที่มาจากศูนย์ ไม่มีอะไรเลย แต่ชีวิตเปลี่ยนได้เมื่อเราคิดได้ ถ้าเราไม่คิด ชีวิตก็ยังคงอยู่อย่างนั้น คนเราถ้าไม่ลงมือทำ ชีวิตก็ไม่มีทางเปลี่ยน เมื่อก่อนพ่อแม่ทิ้งไปตั้งแต่เด็กๆ เราก็ไม่ต่างกับหมาแมวที่เจ้าของปล่อยทิ้งกลางถนน แต่หมาแมวมันยังไม่อดตายเลย แล้วเราเป็นคน ยังมีมือมีเท้า เราก็ต้องดิ้นรน" เสียงจาก อ้วน คนไร้บ้านที่ไม่ไร้หัวใจ บอกเช่นนั้น นี่คือคุณค่าในความเป็นคนของมนุษย์ทุกคน ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าจะมีหรือไม่มี ปัจจัย 4 ที่เรียกว่า "บ้าน"

Shares:
QR Code :
QR Code